วันพฤหัสบดีที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2553

ความเป็นมางานนมัสการพระมหาธาตุฯ ราชบุรี


วัดมหาธาตุวรวิหาร ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองราชบุรี เดิมเรียกว่า วัดหน้าพระธาตุ บ้าง วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ บ้าง ตั้งอยู่เกือบใจกลางเมืองราชบุรีเก่า หรือ เมืองชัยบุรี( อ่านว่า ไช-ยะ-บุ-รี) ตามที่ปรากฏในศิลาจารึกปราสาทพระขรรค์ รัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ.1325-1760) มหาราชองค์สุดท้ายแห่งราชอาณาจักรเขมรโบราณร่วมกับอีก 5 เมือง คือ ลโวทยะปุระ (อ่านว่า ละ-โว-ทะ-ยะ-ปุ-ระ คือเมืองลพบุรี) สุวรรณปุระ (อ่านว่า สุ-วัน-ปุ-ระ คือเมืองสุพรรณบุรี) ศัมพูกปัฎฎนพ (อ่านว่า สัม-พูก-กะ-ปัด-ตะ-นะ คือเมืองโกสินารายณ์) ศรีวิชัยสิงหบุรี (อ่านว่า สิง-หะ-บุ-รี คือเมืองสิงห์ กาญจนบุรี) และศรีวิชัยวัชรบุรี (อ่านว่า วัด-ชะ-ระ-บุ-รี)
วัดมหาธาตุวรวิหารนี้ สันนิษฐานว่า สร้างแต่สมัยทวาราวดีราวพุทธศตวรรษที่ 15-16 ไล่เลี่ยกับการสร้างเมืองเก่าราชบุรี ต่อมาได้มีการสร้างศาสนสถานที่เรียกว่าปราสาท ในศิลปเขมรหรือลพบุรี ซ้อนทับ ราวต้นพุทศตวรรษที่ 18 เพื่อเป็นศูนย์กลางของเมืองตามความเชื่อเกี่ยวกับเรื่อง คติจักรวาลของเขมร ต่อมาปราสาทที่สร้างขึ้นนั้นคงหักพังลง จึงมีการสร้างปรางค์องค์ใหม่ ดังปรากฏรูปแบบสถาปัตยกรรมปัจจุบันซ้อนทับต้นสมัยอยุธยาพุทธศตวรรษที่ 20-21
ปรางค์ ประกอบด้วยปรางค์องค์ประธานและปรางองค์บริวาร ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน ทิศใต้ ทิศตะวันตก และทิศเหนือของปรางค์ประธานมีมุขยื่นออกมาทางทิศตะวันออก มีบันไดขึ้น ฐานเรือนธาตุและสัดส่วนยอดประกอบด้วยลายปูนปั้น ภายในองค์ประธานมีคูหาเชื่อมถึงกัน ผนังส่วนบนเขียนภาพอดีตพระพุทธเจ้า ในซุ้มเรือนแก้วเป็นแถวเรียงต่อกัน ตอนล่างเป็นพุทธประวัติ สันนิษฐานว่าเขียนพร้อมกับสร้างองค์ปรางและซ่อมแซมพร้อมกับองค์ปรางค์ในกาลต่อมา ราวพุทธศตวรรษที่ 22 ล้อมด้วยระเบียงคตเป็นชั้นใน 1 ชั้น ประดิษฐานพระพุทธรูปหินทรายสมัยอยุธยาบ้าง ก่อนอยุธยาบ้าง รูปปั้นสมัยปัจจุบันบ้าง นอกระเบียงคตทิศตะวันออกเป็นวิหารหลวงประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัย เนื่องในศิลปะอยุธยาตอนต้น ซึ่งได้รับการซ่อมแซมใหม่เรียกว่า "พระมงคลบุรี" ชั้นนอกมีกำแพงแก้ว ก่อด้วยแลง ทับหลังสลักพระพุทธรูปปางสมาธิในซุ้มเรือนแก้วด้วยหินทรายสีชมพู ศิลปะเขมรบายน พุทธศตวรรษที่ 18
ปัจจุบัน วัดมหาธาตุวรวิหาร มีเนื้อที่ตั้งวัด 61 ไร่เศษ เป็นที่ตั้งของโบราณสถาน มีสำนักเรียนบาลี มีสอนอภิธรรม มีปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน วัดได้แบ่งเขตสำหรับศาสนกิจเป็นเขตๆ ชัดเจน มีพระสงฆ์และแม่ชีที่อยู่จำพรรษาที่วัดนี้รวม 100 ท่านเศษ
งานประจำปีนมัสการพระมหาธาตุ และเวียนเทียนมาฆบูชา นี้เป็นปีที่ 63 ความจริงงานประจำปีคงจะมีนานกว่านี้ ตามที่คนเก่าเล่าให้ฟังว่า ประมาณเดือน 11-12 ซึ่งเป็นช่วงน้ำมาก ประชาชนจะมาทางเรือ มานมัสการพระธาตุ ภายหลังได้เปลี่ยนมาจัดให้ตรงกับวันมาฆบูชา เมื่อปี พ.ศ.2490 จนถึงปัจจุบัน เดิมทางวัดกับทางราชการร่วมกันจัดงาน มีการแสดงทางวัฒนธรรม เช่น แห่โคมประทีป ประกวดโต๊ะหมู่บูชา ทางวัดได้รักษาประเพณีนี้เรื่อยมาโดยไม่เปลี่ยนแปลงทั้งวัดจัดงานและรูปงาน
ที่มา : คำกล่าวรายงาน ของคณะกรรมการจัดงานนมัสการพระมหาธาตุและอนุรักษ์ประเพณีประจำปีที่ 63 วันศุกร์ที่ 26 ก.พ.2553
อ่านต่อ >>