วันพุธที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ตำนานลิเกราชบุรี ตอนที่ 3

ต่อจาก ตำนานลิเกราชบุรี ตอนที่ 2

นายสมศักดิ์  ภักดี
ฉายา ลิเกเงินล้าน
สมศักดิ์ ภักดี  ลิเกเงินล้าน
ที่มาของภาพ
 http://bbznet.pukpik.com/

นายสมศักดิ์ฯ เป็นชาว อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี เดิมเคยเล่นลิเกคณะดำเนิน ศิลปิน ต่อมาได้แยกตัวออกไปตั้งคณะลิเกสมศักดิ์  ภักดี ได้เป็นผู้ริเริ่มเปลี่ยนการแต่งตัวของลิเกจากเสื้อกั๊กมาเป็นเสื้อคอลึกแขนยาวโปร่งเป็นตะแกรงปักเพชรพราว  เรียกว่า เสื้อดักแมงดา  ใส่เครื่องประดับศีรษะเกี้ยวยอดเรียกว่า หัวมอญ เปลี่ยนจากผ้านุ่งจากจีบโจงตีปีกสูงมากมาเป็น นุ่งมอญ คือข้างขวานุ่งโจงหาง ข้างซ้ายห้อยชาย  โดยจีบหน้านางเล็กๆ นอกจากนี้ยังนำเพลงลูกทุ่งเข้ามาประกอบการแสดงลิเก  พร้อมทั้งใช้กลองชุดของดนตรีสากลเพื่อเพิ่มความสนุกสนานให้ผู้ชม  ซึ่งเป็นต้นฉบับของ ลิเกลูกทุ่ง

ลิเกโทรทัศน์  คณะสมศักดิ์  ภักดี แสดงที่สถานีวิทยุโทรทัศน์ช่อง 9 เป็นพระเอกลิเกที่มีผู้นิยมมากที่สุด และได้รับการยกย่องว่าเป็น ลิเกเงินล้าน ต่อมาอาจารย์เสรี  หวังในธรรม  กรมศิลปากร ได้เชิญสมศักดิ์  ภักดี ร่วมแสดงในรายการ ศรีสุนาฎกรรม ณ โรงละครแห่งชาติ  เมื่อวันที่  19 พฤษภาคม พ.ศ.2518 จึงทำให้สมศักดิ์  ภักดี   ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี  และแสดงออกรายการโทรทัศน์ช่อง 9 อ.ส.ม.ท.ทุกวันเสาร์เวลา 17:00-18:00 น. โดยมีวิญญู   จันทร์เจ้า และนพคุณ  ทานอุทิศ เป็นแกนนำสำคัญที่รวบรวมพระเอกและนางเอกลิเก มาแสดงรายการโทรทัศน์

นายสำราญ  เดชนวม
เป็นโต้โผลิเก คณะสำราญ  สุขอารมณ์  เป็นชาวพิจิตร ได้ฝึกหัดเล่นลิเกตั้งแต่อายุ 18 ปี จากครูบุญธรรม  ศรีปัญญา คณะบุญธรรม  ศรีปัญญา ซึ่งเป็นลิเกพิจิตร  นายสำราญ  เดชนวม ได้อพยพเข้ามาเล่นลิเกอยู่ใน อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เมื่อ พ.ศ.2500 และแต่งงานอยู่กินกับสาวชาวบ้านโป่ง  ตั้งคณะลิเกสำราญ  สุขอารมณ์  ท่านได้ถ่ายทอดศิลปะการแสดงด้านลิเกแก่ลูกศิษย์หลายรุ่นจนได้รับการยกย่องจากลูกศิษย์ว่า เป็นครูลิเกที่มีความสามารถด้านกลอนหรือเพลงลิเกเป็นเลิศ คณะลิเกผู้แสดงที่สร้างชื่อเสียงได้แก่  คณะประทีป  ทวนทอง, จรินทิพย์   เสียงทอง, ราชัน  ลูกชินราช,  ราเชน   ลูกชินราช และอำพร  สิทธิพันธ์  เป็นต้น 

******************************************

เรื่องราวของฉากลิเก
ฉากลิเก เป็นฉากผ้าดิบที่จิตรกรได้จินตนาการรังสรรค์ภาพ จำลองบรรยากาศตามท้องเรื่องออกมาเป็นภาพท้องพระโรง สวน  อุทยาน ป่าเขาลำเนาไพร และภาพวิถีชีวิตชนบท เป็นต้น การเขียนจะเขียนเป็นภาพสามมิติ มีความลึก ตรงกลางฉากจะเป็นจุดสุดสายตา เพื่อเสริมตัวลิเกหน้าเวทีให้เด่นขึ้น และสมจริงตามจินตนาการของผู้ดู

ร้านเชาว์ศิลป์
เป็นร้านเดียวของ อ.บ้านโป่ง ที่รับจ้างเขียนฉากลิเก ละคร และโนราห์ ตั้งอยู่ริมถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 ต.บ้านโป่ง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี โดยมีนายสุเชาว์  แผนคุ้ม เป็นผู้จัดการและเจ้าของ ซึ่งเขาได้เรียนรู้จากประสบการณ์โดยตรง เริ่มต้นจากเด็กล้างพู่กันในร้านรับเขียนป้ายและภาพวิวข้างรถบัสและรถสิบล้อ เมื่ออายุได้ประมาณ 7-8 ขวบ จากประสบการณ์ที่ได้เริ่มหัดเขียนฉากลิเกและเขียนป้ายโฆษณาตามวิกเมื่ออายุ 17 ปี และต่อมาได้เปิดร้านเชาว์ศิลป์เป็นของตนเองเมื่อ พ.ศ.2539

ฉากลิเก
ที่มาของภาพ http://www.learners.in.th/

ขั้นตอนการเขียนฉากลิเก
ฉากลิเกทำจากการนำผ้าดิบมาเย็บติดกันเป็นผืนใหญ่  โดยทั่วไปมีขนาด 4.50X3.20 เมตร เขียนด้วยสีพลาสติก ฉาก 1 ชุดจะประกอบด้วยฉากใหญ่ 1 ผืน ฉากหลืบ 1 คู่ ป้ายชื่อคณะทำเป็นระบาย 1 ผืน และหน้าเตียง 1 ผืน (ผ้าที่ใช้ปิดหน้าเตียงลิเก ส่วนมากเขียนลายหน้าสิงห์ และบัวคว่ำ บัวหงาย) ฉากผืนใหญ่ที่เป็นฉากหลักส่วนมากจะเขียนภาพท้องพระโรง  ส่่วนฉากประกอบจะเป็นภาพอุทยาน  ป่า และภาพชนบท  ลิเกที่เล่นฉากจะใช้ฉากประกอบมาก  แต่หากเป็นลิเกเวทีลอยฟ้า จะเปลี่ยนเป็นฉากหลัง 2 ผืน มีขนาดสูง 2-3 เมตร ยาว 10-12 เมตร ส่วนหลืบข้าง ใช้ไม้อัดเขียนลายซุ้มประตู ราคาฉากต่อชุดประมาณ 6,000-12,000 บาท (ราคาเมื่อปี พ.ศ.2543)  แล้วแต่ขนาด และความยากง่ายของลวดลายที่เขียน  ลูกค้าที่มาสั่งทำฉากส่วนมากเป็นคณะลิเกในจังหวัดราชบุรีและจังหวัดใกล้เคียง เช่น นครปฐม สุพรรณบุรี  กาญจนบุรี  กรุงเทพฯ เพชรบุรี  ชลบุรี และพัทลุง เป็นต้น

***************************************************************

อ่านเพิ่มเติม ภาพชุดลิเกเด็กบ้านโป่ง "คณะยิ่งรัก อารีพร"

ที่มาข้อมูล
คณะกรรมการอำนวยการโครงการจัดทำหนังสือ เรื่อง "วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญา". (2543). หนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดราชบุรี. กรมศิลปากร : องค์การค้าของคุรุสภา. (หน้า 170-180) (ดูภาพหนังสือ)

ไม่มีความคิดเห็น: