วันอังคารที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2554

โบราณสถานของจังหวัดราชบุรี

โบราณสถานภายในจังหวัดราชบุรีมีจำนวนมาก หลายยุคหลายสมัย ตั้งแต่สมัยวัฒนธรรมทวารวดีมาจนถึงปัจจุบัน ผู้จัดทำขอสรุปโบราณสถานที่สำคัญโดยย่อ เพื่อให้เห็นภาพโดยรวม ส่วนรายละเอียดของแต่ละแห่ง ผู้อ่านสามารถศึกษาเพิ่มเติมจากหนังสือต่างๆ หรือสถานที่จริงได้โดยตรง โบราณสถานของจังหวัดราชบุรี ที่สำคัญ ได้แก่
  • โบราณสถานวัดโขลงสุวรรณคิรี (โบราณสถานหมายเลข 18) ตั้งอยู่กลางเมืองโบราณคูบัว อ.เมืองราชบุรี
  • โบราณสถานจอมปราสาท ตั้งอยู่กลางเมืองโบราณโกสินารายณ์ ต.ท่าผา อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี (ดูรายละเอียด)
  • วัดมหาธาตุวรวิหาร อ.เมือง ราชบุรี โดยมีสิ่งสำคัญในวัดได้แก่ พระปรางค์ประธาน พระวิหารหลวง กำแพงแก้ว ราวบันไดรูปครุฑยุดนาค พระอุโบสถ พระมณฑป พระเจดีย์ (ดูรายละเอียด)
  • เจดีย์หัก วัดเจติยาราม ต.เจดีย์หัก อ.เมืองราชบุรี
  • เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง วัดเพลง (ร้าง) ภายในเขตพื้นที่วัดมหาธาตุวรวิหาร อ.เมืองราชบุรี (ดูรายละเอียด)
  • วิหารแกลบ วัดเขาเหลือ ต.หน้าเมือง อ.เมืองราชบุรี (ดูรายละเอียด)
  • ปรางค์ วัดอรัญญิกาวาส ต.เจดีย์หัก อ.เมืองราชบุรี (ดูรายละเอียด)
  • พระปรมาภิไธยย่อ จปร. ถ้ำระฆัง ตั้งอยู่ในพื้นที่ค่ายบุรฉัตร ต.เกาะพลับพลา อ.เมืองราชบุรี
  • พระปรมาภิไธยย่อ จปร. เขาวังสะดึง ตั้งอยู่หลังวัดหนองหอย ต.เกาะพลับพลา อ.เมืองราชบุรี
  • พระปรมาภิไธยย่อ จปร. ถ้ำสาริกา ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 ต.ธรรมเสน อ.โพธาราม
  • พระปรมาภิไธยย่อ จปร. ถ้ำจระเข้ ต.เกาะพลับพลา อ.เมืองราชบุรี (ปัจจุบันลบเลือนหายไปแล้ว)
  • อาคารศาลากลางจังหวัดราชบุรี (เดิม) ต.หน้าเมือง อ.เมืองราชบุรี (ปัจจุบันคือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี) (ดูภาพ ที่ตั้งและพิกัด)
  • อาคารศาลแขวงราชบุรี  ต.หน้าเมือง อ.เมืองราชบุรี
  • อาคารสโมสรเสือป่า ต.หน้าเมือง อ.เมืองราชบุรี
  • ฯ ล ฯ

*********************************************

ที่มาข้อมูล
คณะกรรมการอำนวยการโครงการจัดทำหนังสือ เรื่อง "วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญา". (2543). หนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดราชบุรี. กรมศิลปากร : องค์การค้าของคุรุสภา. (หน้า 113-121) (ดูภาพหนังสือ)
อ่านต่อ >>

โบราณวัตถุของจังหวัดราชบุรี

จังหวัดราชบุรีมีความเป็นมายาวนาน จากผลการดำเนินการทางโบราณคดีของกรมศิลปากร ในเขตพื้นที่จังหวัดราชบุรี ได้มีการพบโบราณวัตถุหลายยุคหลายสมัย และเก็บรักษาไว้ตามสถานที่ต่างๆ ในบทความนี้ ผู้จัดทำ พยายามสรุปโบราณวัตถุของจังหวัดราชบุรีที่พบโดยย่อ เพื่อให้เห็นภาพรวม ส่วนรายละเอียดของโบราณวัตถุแต่ละชิ้น ท่านผู้อ่านสามารถค้นคว้าศึกษาเพิ่มเติมได้จากหนังสือต่างๆ หรือที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี ต่อไป 

โบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ 
ที่สำคัญได้แก่
  • โครงกระดูก พบที่แหล่งโบราณคดีโคกพลับ (อ.บางแพ) ,บ้านโคกพริก (อ.เมือง) ,บ้านปากบึงและบ้านหนองบัว(อ.จอมบึง) ,ถ้ำเขาขวาก และถ้ำเขาปะฎัก (อ.โพธาราม) 
  • เครื่องมือหิน พบที่แหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์เกือบทุกแห่ง 
  • เครื่องประดับทำด้วยหิน พบในเขตเหมืองแร่ และบ้านนาขุนแสน (อ.สวนผึ้ง) ,โคกพลับ (อ.บางแพ) 
  • กลองมโหระทึก พบที่เมืองคูบัว (อ.เมืองราชบุรี)
  • โถสำริด พบในแม่น้ำแม่กลองเหนือตลาดบ้านโป่ง
  • เครื่องประดับทำจากกระดองเต่า พบที่แหล่งโบราณคดีโคกพลับ อ.บางแพ
  • อื่นๆ เช่น กำไลทำจากเปลือกหอยกาบและหอยมือเสือ เครื่องใช้ เครื่องประดับทำจากสำริด ภาชนะดินเผา เป็นต้น
โบราณวัตถุสมัยประวัติศาสตร์
ที่สำคัญได้แก่
  • เหรียญเงิน สมัยพุทธศตวรรษที่ 11-12 พบที่เมืองคูบัว อ.เมืองราชบุรี
  • ประติมากรรม เป็นศิลปะสมัยทวารวดี พบที่เมืองคูบัว อ.เมืองราชบุรี ได้แก่ เศียรพระโพธิสัตว์ดินเผา พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรดินเผา  พระโพธิสัตว์สำริด รูปคนแคระปูนปั้น พระพิมพ์ทำจากหินชนวน พระพิมพ์ดินเผา ภาพปูนปั้นนักดนตรีหญิง
  • พระพิมพ์หินชนวน พบที่เมืองคูบัว อ.เมืองราชบุรี
  • จี้หอยคอ พบที่เมืองคูบัว อ.เมืองราชบุรี
  • พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี พบที่โบราณสถานจอมปราสาท ต.ท่าผา อ.บ้านโป่ง (อ่านรายละเอียด)
  • ชิ้นส่วนลวดลายปูนปั้น ที่ประดับตกแต่งองค์ปรางค์ มีทั้งที่ทำเป็นรูปเทวดาหรือกษัตริย์ มนุษย์ อมนุษย์ และรูปสัตว์ต่างๆ เช่น นาค สิงห์ ช้าง ฯลฯ
  • พระพุทธรูปประทับยืน ขุดพบที่วัดประเสริฐรังสรรค์ อ.เมืองราชบุรี
  • พระอิศวรปางมหาฤาษี ขุดพบที่วัดสระกระเทียม อ.บ้านโป่ง
  • ชิ้นส่วนพระพุทธรูปทรงเครื่องสำริด พบที่ใต้ฐานพระปรางค์วัดมหาธาตุวรวิหาร อ.เมืองราชบุรี
  • เครื่องพุทธบูชาทองคำ พบที่กรุเจดีย์วัดเพลงหรือวัดโพธิ์เขียว  ในเขตบริเวณพื้นที่ของวัดมหาธาตุวรวิหาร อ.เมืองราชบุรี (ดูรายละเอียด)
  • เครื่องถ้วยโบราณ พบในลำนำแม่กลอง หน้าวัดเกาะนัมมทาปทวรัญชาราม โรงกลั่นเหล้า วัดตาล วัดมหาธาตุ วัดท่าโขลง วัดหลุมดิน วัดบ้านส้อง ขึ้นไปจนถึงตลาดท่าฝาง ฯลฯ

ปัจจุบันโบราณวัตถุเหล่านี้ ส่วนใหญ่เก็บรักษาและจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี


***********************************************************

ที่มาข้อมูล
คณะกรรมการอำนวยการโครงการจัดทำหนังสือ เรื่อง "วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญา". (2543). หนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดราชบุรี. กรมศิลปากร : องค์การค้าของคุรุสภา. (หน้า 107-113) (ดูภาพหนังสือ)
อ่านต่อ >>

วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2554

แหล่งโบราณคดีในจังหวัดราชบุรี

แหล่งโบราณคดีในจังหวัดราชบุรี มีจำนวนหลายแห่งและหลายยุคสมัย ตั้งแต่แหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ถึงแหล่งโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ช่วงหลัง ซึ่งมีหนังสือเกี่ยวกับราชบุรีหลายเล่มเขียนเอาไว้ สำหรับแหล่งโบราณคดีใน จ.ราชบุรี ในบทความนี้ ผู้จัดทำได้สรุปเป็นภาพรวมแบบย่อ เพื่อให้มองเห็นได้ชัดเจน เผื่อว่าท่านใดอยู่ใกล้สถานที่นั้น จะได้ไปศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง รวมทั้งช่วยดูแลรักษาแหล่งโบราณคดีนั้นๆ อีกทางหนึ่งด้วย ส่วนรายละเอียดในแต่ละแหล่งนั้น อยู่ในสมัยไหนและพบหลักฐานอะไรบ้าง จะได้นำเสนอรายละเอียดเฉพาะแต่ละแหล่งต่อไป

แหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์
กลุ่มที่ 1 แหล่งโบราณคดีในพื้นที่สูงแถบเทือกเขาตะนาวศรี
ส่วนใหญ่อยู่ในเขต อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี และพบตามเหมืองดีบุกที่อาจมีการทำเหมืองดีบุกมาแล้วตั้งแต่ก่อนสมัยประวัติศาสตร์ราวประมาณ 2,000 ปี แหล่งโบราณคดีที่สำคัญ ได้แก่
  1. เหมืองลุงสิงห์ บ้านตะโกล่าง ต.สวนผึ้ง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี
  2. เหมืองเริ่มชัย บ้านตะโกล่าง ต.สวนผึ้ง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี
  3. บ้านนาขุนแสน บ้านนาขุนแสน ต.สวนผึ้ง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี
  4. ห้วยน้ำใส บ้านห้วยน้ำใส ต.สวนผึ้ง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี
  5. เหมืองผาปกค้างคาว บ้านผาปก ต.สวนผึ้ง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี
  6. ห้วยม่วง บ้านห้วยม่วง ต.ตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี
  7. เหมืองตะโกปิดทอง ต.ตะโกปิดทอง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี
  8. ห้วยสวนพลู บ้านห้วยสวนพลู ต.บ้านบึง อ.บ้านคา จ.ราชบุรี
กลุ่มที่ 2 แหล่งโบราณคดีในเขตที่ราบสลับกับภูเขาโดด
พบในเขต อ.จอมบึง และ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ส่วนใหญ่เป็นถ้ำเนินดินใกล้แหล่งน้ำ และพื้นที่ราบที่น้ำท่วมไม่ถึง แหล่งโบราณคดีที่สำคัญมีดังนี้
  1. บ้านหนองบัว ต.จอมบึง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี
  2. บ้านปากบึง ต.จอมบึง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี
  3. ไร่ชัฎหนองคา  บ้านหนองบัว ต.จอมบึง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี
  4. ถ้ำน้ำมนต์ บ้านเขารังเสือ ต.จอมบึง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี
  5. ถ้ำหนองศาลเจ้า เขาคันหอก บ้านหนองศาลเจ้า ต.เบิกไพร อ.จอมบึง จ.ราชบุรี
  6. ถ้ำเขาทะลุ  ต.ปากช่อง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี
  7. ถ้ำเขารังเสือ ต.ปากช่อง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี
  8. เขาปะฎัก (ไร่นายกุ่ย  แซ่ย่งฮง) บ้านหนองกวาง ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชุบรี
  9. บ้านหนองกวาง (ไร่นายเชษฐ์  ทรัพย์เจริญกุล และไร่นายชมพู  บุญรักษา)  ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
  10. ถ้ำแรด บ้านหนองกวาง ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
  11. ถ้ำเขาช่องลม บ้านหนองกวาง ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
  12. ถ้ำเขาขวาก บ้านหนองกวาง ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
  13. ถ้ำเขากระโจม บ้านหนองกวาง ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
  14. ถ้ำสิงโตแก้ว บ้านหนองกวาง ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
  15. บ้านพุน้ำค้าง ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
  16. ถ้ำเขาหนองหญ้าปล้อง บ้านหนองกวาง ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
  17. เขาเขียว ต.เขาชะงุ้ม อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
กลุ่มที่ 3 แหล่งโบราณคดีในแถบที่ราบลุ่มแม่น้ำแม่กลอง
พบกระจายอยู่ในเขต อ.บ้านโป่ง อ.เมืองราชบุรี และ อ.บางแพ แหล่งโบราณคดีที่สำคัญมีดังนี้
  1. บ้านน้ำพุ ต.น้ำพุ อ.เมือง จ.ราชบุรี
  2. ถ้ำเขาซุ่มดง บ้านเขาซุ่มดง ต.น้ำพุ อ.เมือง จ.ราชบุรี
  3. บ้านโคกพริก ต.คุ้งกระถิน อ.เมือง จ.ราชบุรี
  4. คูบัว ต.คูบัว อ.เมือง จ.ราชบุรี
  5. โคกพลับ บ้านโคกพลับ ต.โพหัก อ.บางแพ จ.ราชบุรี (ดูรายละเอียด)

แหล่งโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์
  • เมืองโบราณคูบัว ต.คูบัว อ.เมือง จ.ราชบุรี
  • แหล่งโบราณคดีบนเทือกเขางู ต.เกาะพลับพลา อ.เมือง จ.ราชบุรี ได้แก่ ถ้ำฤาษี ถ้ำจีน ถ้ำจาม ถ้ำฝาโถ 
  • แหล่งโบราณคดีบ้านดอนกระเบื้อง ต.ดอนกระเบื้อง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี
  • แหล่งโบราณคดีบ้านโคกหม้อ ต.โคกหม้อ อ.เมือง จ.ราชบุรี
  • แหล่งโบราณคดีวัดเกาะ ในเขตวัดเกาะนัมมทาปทวรัญชาราม ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี
  • แหล่งโบราณดดีวัดขุนสีห์ (รับน้ำ) บ้านม่วง ต.บ้านม่วง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี

******************************************************

ที่มาข้อมูล
คณะกรรมการอำนวยการโครงการจัดทำหนังสือ เรื่อง "วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญา". (2543). หนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดราชบุรี. กรมศิลปากร : องค์การค้าของคุรุสภา. (หน้า 121-131) (ดูภาพหนังสือ)
อ่านต่อ >>

วันพุธที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2554

วิหารแกลบ วัดเขาเหลือ

วิหารแกลบ วัดเขาเหลือ
ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี
ดูที่ตั้ง ภาพอื่นๆ และพิกัด
เรื่องราวของ วิหารแกลบ วัดเขาเหลือ นี้ถูกเขียนและบันทึกไว้ในหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของจังหวัดราชบุรี จำนวนหลายเล่ม เป็นวิหารที่สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย  ตอนนี้ไม่ค่อยมีใครมาสนใจศึกษามากนัก เป็นเพียงโบราณสถานเล็กๆ ที่อยู่ด้านข้างโบสถ์ของวัดเขาหลือ  มีต้นไม้ใหญ่ปกคลุมหากไม่สังเกตก็จะมองไม่เห็น  วิหารแกลบ เป็นเพียงโบราณสถานแห่งหนึ่งที่กำลังถูกลืมเลือน ไม่มีนักท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ท่านใดมาเยี่ยมชมเป็นเวลานานแล้ว จะมีบ้างก็เป็นนักศึกษาคณะโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยศิลปากร มาเยี่ยมชมศึกษาเป็นครั้งคราว การบันทึกเรื่องราวของวิหารแกลบนี้ มีหลายส่วน หลายตอน จากหนังสือหลายเล่ม ลองอ่านดูนะครับ

จากหนังสือ ราชบุรี  (พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2543)
วิหารแกลบ สร้างในสมัยอยุธยาเมื่อประมาณ 300 ปีเศษมาแล้ว สร้างด้วยอิฐฉาบปูนทั้งหลัง เป็นวิหารแห่งเดียวในภาคกลางที่ยังเหลืออยู่ ภายในมีหลวงพ่อเหลือ หรือหลวงพ่อมงคลสรรเพชร ประดิษฐานเป็นองค์พระประธาน ด้านข้างฝาผนังเป็นซุ้มจระนำ 16 ซุ้ม มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ 14 ซุ้ม ซุ้มละ 1 องค์ และผนังส่วนที่เหลือมีภาพจิตรกรรมที่วิจิตรงดงาม ที่มาของชื่อ "วิหารแกลบ" นั้นเป็นเพราะลักษณะของวิหารเปรียบเหมือนม้าแกลบตัวเล็กๆ

วิหารแกลบ ด้านหน้า
ดูภาพอื่นๆ
จากหนังสือ วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดราชบุรี (พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2543)
เป็นอาคารเครื่องก่อขนาด 3 ห้อง โครงสร้างเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทั้งหมด ลักษณะหลังคาเป็นทรงจั่วลาดลงเล็กน้อย ด้านหน้าและด้านหลังมีมุขยื่น  ส่วนของหลังคาทั้งหมดฉาบปูนเรียบ   เครื่องลำยองเป็นปูนปั้นเรียบยอดจั่วและหางหงส์ปั้นปูนรูปดอกบัวตูม หน้าบันก่ออิฐถือปูนเรียบ ผนังด้านหน้ามีประตูตรงกลาง ด้านหลังทึบ ด้านข้างมีซุ้มหน้าต่างด้านละ 3 ซุ้ม แต่มีหน้าต่างจริงเพียงช่องเดียว  ฐานอาคารเป็นฐานบัวลูกฟักแอ่นโค้งคล้ายท้องเรือสำเภา อันเป็นลักษณะเฉพาะของสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย ฝาผนังด้านในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ค่อนข้างลบเลือนแต่ยังพอมองเห็นว่าเป็นภาพเรื่องพระพุทธประวัติ เทพชุมนุม  และภาพยักษ์

ด้านหลังวิหารมีเจดีย์ขนาดใหญ่ย่อมมุมไม้สิบสองก่ออิฐถือปูน  ฐานเจดีย์เป็นฐานบัวลูกฟักซ้อนกัน องค์ระฆังย่อมุม มีบัลลังก์รองรับปล้องไฉนและส่วนยอด

กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติและกำหนดขอบเขตโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 113 ตอนพิเศษ 50 ง วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ.2539

จาก หนังสือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี และจังหวัดราชบุรี  (พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2544) 
วิหารแกลบ ตั้งอยู่ในบริเวณวัดเขาหลือ ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี มีลักษณะเป็นวิหารอุดขนาดเล็ก ก่ออิฐถือปูน หลังคาทรงจั่วฉาบปูนเรียบ ฐานวิหารมีลักษณะอ่อนโค้งท้องสำเภาหรือหย่อนท้องช้าง ซึ่งเป็นคตินิยมของสถาปัตยกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย

ภายในมีพระพุทธรูปสลักจากหินทราย ศิลปะอยุธยา ประดิษฐานอยู่หลายองค์ สำหรับพระประธานภายในวิหารนั้น ได้รับการซ่อมแซมโดยมีการเอาปูนพอกทับของเดิมแล้วปิดทอง บนผนังวิหารมีจิตรกรรมที่ชำรุดลบเลือนมาก จากร่องรอยที่หลงเหลืออยู่สันนิษฐานว่า แต่เดิมคงเป็นเรื่องพุทธประวัติและเทพชุมนุม จากลักษณะการเขียนภาพลงบนรองพื้นสีขาวเบาบาง ใช้สีฝุ่นน้อยสี รวมทั้งการใช้เส้นโค้งและสถาปัตยกรรมเป็นตัวแบ่งเรื่องราวของภาพที่นิยมใช้กันในจิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยาตอนปลาย แสดงให้เห็นว่าน่าจะมีการเขียนขึ้นในระยะเดียวกันกับการสร้างวิหาร อีกทั้งลักษณะตัวภาพเทพชุมนุมที่รูปร่างหน้าตาและการแต่งกายคล้ายกับชาวต่างชาติที่เข้ามาในเมืองราชบุรีช่วงเวลานั้น ไม่ว่าจะเป็นชาวจีน ชาวตะวันออกกลางหรือเปอร์เซีย และชาวยุโรป จึงนับเป็นหลักฐานที่สะท้อนให้เห็นถึงสภาพผู้คนในสังคมเมืองราชบุรีสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี

เรื่องราวของวิหารแกลบ จากหนังสือทั้ง 3 เล่มนี้ ต่างมีวิธีการพรรณาที่ต่างกัน รวมทั้งการเรียกชื่อศิลปะหรือสิ่งก่อสร้างต่างๆ ก็แตกต่างกันไปด้วย ผู้อ่านต้องจินตนาการและนำมาบูรณการร่วมกันจึงจะเห็นเรื่องราวของ "วิหารแกลบ" โดยแท้  และหากท่านผู้อ่าน อยากเห็นและสัมผัสเรื่องราวจริง ก็สามารถแวะไปเยี่ยมชมด้วยตนเองสักครั้งก็จะเป็นการดี


***************************************** 
ที่มาข้อมูล
  • คณะกรรมการอำนวยการโครงการจัดทำหนังสือ เรื่อง "วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญา". (2543). วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดราชบุรี. กรมศิลปากร : องค์การค้าของคุรุสภา. (หน้า 118) (ดูภาพหนังสือ)
  • มรกต งามภักดี.(2543).ราชบุรี.กรุงเทพฯ: องค์การการค้าของคุรุสภา. (หน้า 180) (ดูภาพหนังสือ)
  • มโน กลีบทอง.(2544). พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี และจังหวัดราชบุรี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมาพันธ์.(หน้า 70)  (ดูภาพหนังสือ)
อ่านต่อ >>

วันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เจดีย์ท่าน้ำ วัดมหาธาตุ ราชบุรี

เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง วัดเพลง (ร้าง)
ตั้งอยู่ข้างศาลเจ้าพ่อเขาตก
เขตวัดมหาธาตุวรวิหาร อ.เมือง จ.ราชบุรี
ถนนที่เห็นชื่อว่า "ถนนอยุธยา" เป็นถนนเชื่อมจาก
เจดีย์ท่าน้ำ (ที่เห็น) - มายังองค์พระปรางค์ของวัด
(เมื่อก่อนเรียกเจดีย์ท่าน้ำ เพราะตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง)
เจดีย์ท่าน้ำ วัดมหาธาตุ ราชบุรี ที่เห็นอยู่ในภาพนี้ เป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง  ซึ่งผมเห็นมาตั้งแต่เกิด อยู่ข้างๆ บ้านผมนี้เอง คือ ตั้งอยู่ในเขตบริเวณวัดมหาธาตุวรวิหาร อ.เมือง จ.ราชบุรี สูงตระหง่านอยู่ข้างศาลเจ้าพ่อเขาตก (ตัวศาลเจ้าพ่อเขาตก สร้างขึ้นในภายหลัง)  ตอนนั้นผมไม่เคยทราบเรื่องราวเกี่ยวกับเจดีย์องค์นี้เลยว่า ที่จริงแล้ว คือโบราณสถานสำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดราชบุรี  สมัยตอนเด็กๆ พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ทั้งลุงป้าน้าอา บอกว่า ห้ามไปเล่นแถวเจดีย์นี้ เพราะมีป่ารกทึบและมีผีเฝ้าเจดีย์อยู่มาก  เด็กๆ หลายคนไปเล่นแล้วกลับมาเป็นไข้ตัวร้อน ต้องกินน้ำปัสสาวะของพี่น้องด้วยกันเป็นยาถึงจะหายจากไข้ 

ในหนังสือหลายเล่มบอกว่า เจดีย์นี้เป็นเจดีย์ซึ่งอยู่ในบริเวณ "วัดเพลง" (วัดเพลง เดิมเรียก "วัดเพรง" หมายถึงวัดเก่าแก่ ต่อมาเรียกเพี้ยนไปเป็น "เพลง") ซึ่งวัดเพลงนี้ นายมานิต วัลลิโภดม อดีตหัวหน้ากองโบราณคดี กรมศิลปากร ได้บันทึกไว้อีกชื่อหนึ่งว่า "วัดโพธิ์เขียว"  เขาบอกว่าเป็นวัดร้างอยู่ติดกับวัดมหาธาตุนี้เอง  แต่ผมก็เกิดมาก็ไม่เคยเห็นวัดเพลงที่ว่านี้เลย  เจดีย์นี้ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของบ้านท่าเสา ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จ.ราชบุรี  (แต่บันทึกบางแห่งบอกว่า บ้านท่าแจ บางแห่งก็บอกว่า ตำบลหลุมดิน) (ดูที่ตั้งและพิกัดจริง)  เมื่อก่อนเป็นเจดีย์ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง เลยเรียกว่า "เจดีย์ท่าน้ำ"  แต่ตอนนี้อยู่ห่างจากฝั่งมาก เพราะทางน้ำเกิดการเปลี่ยนแปลง


เจดีย์องค์นี้กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดค้นใน พ.ศ.2497 ผลการขุดพบว่า เป็นเจดีย์รูปสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง สภาพชำรุดยอดหักเหลือเพียงชั้นบัลลังก์ องค์เจดีย์แตกร้าวมีรอยขุดเจาะหลายแห่ง โบราณวัตถุที่พบ ได้แก่ แผ่นหินทรายสีแดงจำหลักพระพุทธรูปปางสมาธิในซุ้มเรือนแก้วทั้งสองด้าน  ลักษณะคล้ายกับพระพุทธรูปบนกำแพงวัดมหาธาตุ  หินทรายแดงสลักพระพุทธรูปนี้ ตั้งอยู่บนก้อนแลงสี่เหลี่ยมขนาด 38.05X45X2 เซนติเมตร  มีรอยยาปูนผนึกไว้ เมื่อเซาะเปิดก้อนแลงออก พบว่ากลางก้อนแลงเป็นหลุมบรรจุผอบทองคำ ภายในผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุจนาดเมล็ดพันธุ์ผักกาด 3 องค์ (ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดมหาธาตุ) และยังพบโบราณวัตุอื่นๆ อีก เช่น ชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายแดง เศษภาชนะดินเผาฯ


เกี่ยวกับโบราณวัตถุที่พบ ณ เจดีย์แห่งนี้ ยังมีการบันทึกเล่มอื่นๆ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกัน แต่ในรายละเอียดบางอย่างไม่ตรงกัน เช่น เจดีย์นี้เป็นลักษณะก่ออิญถือปูน เหลือเฉพาะองค์ระฆัง ภายในกรุเจดีย์พบผอบทองคำหรือสุวรรณกรัณฑ์รูปทรงกระบอกมีฝาจุกรูปดอกบัวตูม ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุร่วมกับแก้ว หินมีค่า แผ่นพระพิมพ์ทองคำและเงินเป็นภาพพระพุทธรูปปางมารวิชัยประทับในซุ้มเรือนแก้ว โดยทั้งหมดบรรจุอยู่ภายในหลุมกลางก้อนศิลารูปสี่เหลี่ยมอีกชั้นหนึ่ง  นอกจากนี้ยังพบแผ่นพระพิมพ์ทองคำดุนภาพพระพุทธรูปประทับประทับยืนปางอภัย  พร้อมกับแผ่นทองคำบางๆ ตัดเป็นรุปช้าง ม้า และเต่า คล้ายกับที่พบในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาในสมัยอยุธยาตอนต้น ปัจจุบันโบราณวัตถุล้ำค่าเหล่านี้เก็บรักษาอยู่ที่วัดมหาธาตุราชบุรี


จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า โบราณวัตถุที่พบและได้รับการบันทึกไว้ อาจจะมีความแตกต่างกันในรายละเอียดบางประการ แต่อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ระบุตรงกันคือเก็บรักษาไว้ที่ วัดมหาธาตุวรวิหาร อ.เมือง จ.ราชบุรี ดังนั้น ท่านผู้อ่านสามารถค้นคว้าเพิ่มเติมได้ตรงที่วัดมหาธาตุ  ราชบุรี  ว่า "จริงๆ แล้ว มีอะไรบ้างที่พบ"


ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของเจดีย์วัดเพลง (ร้าง) เป็นสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา  กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ และกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 112 ตอนพิเศษ 39 ง วันที่  6 ตุลาคม พ.ศ.2538


********************************************************

อ่านเพิ่มเติม วัดมหาธาตุวรวิหาร

ที่มาข้อมูล
  • มานิต  วัลลิโภดม. (2531). "การขุดค้นพระบรมสารีริกธาตุ" , วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 14 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มีนาคม 2531). (หน้า 51)
  • คณะกรรมการอำนวยการโครงการจัดทำหนังสือ เรื่อง "วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญา". (2543). หนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดราชบุรี. กรมศิลปากร : องค์การค้าของคุรุสภา. (หน้า 63,117-118) (ดูภาพหนังสือ
อ่านต่อ >>

วันพุธที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ตำนานลิเกราชบุรี ตอนที่ 3

ต่อจาก ตำนานลิเกราชบุรี ตอนที่ 2

นายสมศักดิ์  ภักดี
ฉายา ลิเกเงินล้าน
สมศักดิ์ ภักดี  ลิเกเงินล้าน
ที่มาของภาพ
 http://bbznet.pukpik.com/

นายสมศักดิ์ฯ เป็นชาว อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี เดิมเคยเล่นลิเกคณะดำเนิน ศิลปิน ต่อมาได้แยกตัวออกไปตั้งคณะลิเกสมศักดิ์  ภักดี ได้เป็นผู้ริเริ่มเปลี่ยนการแต่งตัวของลิเกจากเสื้อกั๊กมาเป็นเสื้อคอลึกแขนยาวโปร่งเป็นตะแกรงปักเพชรพราว  เรียกว่า เสื้อดักแมงดา  ใส่เครื่องประดับศีรษะเกี้ยวยอดเรียกว่า หัวมอญ เปลี่ยนจากผ้านุ่งจากจีบโจงตีปีกสูงมากมาเป็น นุ่งมอญ คือข้างขวานุ่งโจงหาง ข้างซ้ายห้อยชาย  โดยจีบหน้านางเล็กๆ นอกจากนี้ยังนำเพลงลูกทุ่งเข้ามาประกอบการแสดงลิเก  พร้อมทั้งใช้กลองชุดของดนตรีสากลเพื่อเพิ่มความสนุกสนานให้ผู้ชม  ซึ่งเป็นต้นฉบับของ ลิเกลูกทุ่ง

ลิเกโทรทัศน์  คณะสมศักดิ์  ภักดี แสดงที่สถานีวิทยุโทรทัศน์ช่อง 9 เป็นพระเอกลิเกที่มีผู้นิยมมากที่สุด และได้รับการยกย่องว่าเป็น ลิเกเงินล้าน ต่อมาอาจารย์เสรี  หวังในธรรม  กรมศิลปากร ได้เชิญสมศักดิ์  ภักดี ร่วมแสดงในรายการ ศรีสุนาฎกรรม ณ โรงละครแห่งชาติ  เมื่อวันที่  19 พฤษภาคม พ.ศ.2518 จึงทำให้สมศักดิ์  ภักดี   ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี  และแสดงออกรายการโทรทัศน์ช่อง 9 อ.ส.ม.ท.ทุกวันเสาร์เวลา 17:00-18:00 น. โดยมีวิญญู   จันทร์เจ้า และนพคุณ  ทานอุทิศ เป็นแกนนำสำคัญที่รวบรวมพระเอกและนางเอกลิเก มาแสดงรายการโทรทัศน์

นายสำราญ  เดชนวม
เป็นโต้โผลิเก คณะสำราญ  สุขอารมณ์  เป็นชาวพิจิตร ได้ฝึกหัดเล่นลิเกตั้งแต่อายุ 18 ปี จากครูบุญธรรม  ศรีปัญญา คณะบุญธรรม  ศรีปัญญา ซึ่งเป็นลิเกพิจิตร  นายสำราญ  เดชนวม ได้อพยพเข้ามาเล่นลิเกอยู่ใน อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เมื่อ พ.ศ.2500 และแต่งงานอยู่กินกับสาวชาวบ้านโป่ง  ตั้งคณะลิเกสำราญ  สุขอารมณ์  ท่านได้ถ่ายทอดศิลปะการแสดงด้านลิเกแก่ลูกศิษย์หลายรุ่นจนได้รับการยกย่องจากลูกศิษย์ว่า เป็นครูลิเกที่มีความสามารถด้านกลอนหรือเพลงลิเกเป็นเลิศ คณะลิเกผู้แสดงที่สร้างชื่อเสียงได้แก่  คณะประทีป  ทวนทอง, จรินทิพย์   เสียงทอง, ราชัน  ลูกชินราช,  ราเชน   ลูกชินราช และอำพร  สิทธิพันธ์  เป็นต้น 

******************************************

เรื่องราวของฉากลิเก
ฉากลิเก เป็นฉากผ้าดิบที่จิตรกรได้จินตนาการรังสรรค์ภาพ จำลองบรรยากาศตามท้องเรื่องออกมาเป็นภาพท้องพระโรง สวน  อุทยาน ป่าเขาลำเนาไพร และภาพวิถีชีวิตชนบท เป็นต้น การเขียนจะเขียนเป็นภาพสามมิติ มีความลึก ตรงกลางฉากจะเป็นจุดสุดสายตา เพื่อเสริมตัวลิเกหน้าเวทีให้เด่นขึ้น และสมจริงตามจินตนาการของผู้ดู

ร้านเชาว์ศิลป์
เป็นร้านเดียวของ อ.บ้านโป่ง ที่รับจ้างเขียนฉากลิเก ละคร และโนราห์ ตั้งอยู่ริมถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 ต.บ้านโป่ง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี โดยมีนายสุเชาว์  แผนคุ้ม เป็นผู้จัดการและเจ้าของ ซึ่งเขาได้เรียนรู้จากประสบการณ์โดยตรง เริ่มต้นจากเด็กล้างพู่กันในร้านรับเขียนป้ายและภาพวิวข้างรถบัสและรถสิบล้อ เมื่ออายุได้ประมาณ 7-8 ขวบ จากประสบการณ์ที่ได้เริ่มหัดเขียนฉากลิเกและเขียนป้ายโฆษณาตามวิกเมื่ออายุ 17 ปี และต่อมาได้เปิดร้านเชาว์ศิลป์เป็นของตนเองเมื่อ พ.ศ.2539

ฉากลิเก
ที่มาของภาพ http://www.learners.in.th/

ขั้นตอนการเขียนฉากลิเก
ฉากลิเกทำจากการนำผ้าดิบมาเย็บติดกันเป็นผืนใหญ่  โดยทั่วไปมีขนาด 4.50X3.20 เมตร เขียนด้วยสีพลาสติก ฉาก 1 ชุดจะประกอบด้วยฉากใหญ่ 1 ผืน ฉากหลืบ 1 คู่ ป้ายชื่อคณะทำเป็นระบาย 1 ผืน และหน้าเตียง 1 ผืน (ผ้าที่ใช้ปิดหน้าเตียงลิเก ส่วนมากเขียนลายหน้าสิงห์ และบัวคว่ำ บัวหงาย) ฉากผืนใหญ่ที่เป็นฉากหลักส่วนมากจะเขียนภาพท้องพระโรง  ส่่วนฉากประกอบจะเป็นภาพอุทยาน  ป่า และภาพชนบท  ลิเกที่เล่นฉากจะใช้ฉากประกอบมาก  แต่หากเป็นลิเกเวทีลอยฟ้า จะเปลี่ยนเป็นฉากหลัง 2 ผืน มีขนาดสูง 2-3 เมตร ยาว 10-12 เมตร ส่วนหลืบข้าง ใช้ไม้อัดเขียนลายซุ้มประตู ราคาฉากต่อชุดประมาณ 6,000-12,000 บาท (ราคาเมื่อปี พ.ศ.2543)  แล้วแต่ขนาด และความยากง่ายของลวดลายที่เขียน  ลูกค้าที่มาสั่งทำฉากส่วนมากเป็นคณะลิเกในจังหวัดราชบุรีและจังหวัดใกล้เคียง เช่น นครปฐม สุพรรณบุรี  กาญจนบุรี  กรุงเทพฯ เพชรบุรี  ชลบุรี และพัทลุง เป็นต้น

***************************************************************

อ่านเพิ่มเติม ภาพชุดลิเกเด็กบ้านโป่ง "คณะยิ่งรัก อารีพร"

ที่มาข้อมูล
คณะกรรมการอำนวยการโครงการจัดทำหนังสือ เรื่อง "วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญา". (2543). หนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดราชบุรี. กรมศิลปากร : องค์การค้าของคุรุสภา. (หน้า 170-180) (ดูภาพหนังสือ)
อ่านต่อ >>

ตำนานลิเกราชบุรี ตอนที่ 2

ต่อจาก ตำนานลิเกราชบุรี ตอนที่ 1

คณะลิเกยิ่งรัก  อารีพร
ลิเกเด็กและเยาวชน แห่ง อ.บ้านโป่ง
ในปัจจุบัน ที่ยังพอมีสืบทอดอยู่บ้าง
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม
นางสอย  ทรงแสง (สีสกุล)
เป็นบุตรีของนางทองดี  สีสกุล  ได้รับการฝึกหัดสืบทอดศิลปะการแสดงด้านละคร และลิเกมาจากมารดา และเป็นโตโผลิเกคณะ "ศิลป์สงเสริม" และฝึกหัดลูกหลานเล่นลิเกจนเกิดคณะลิเกหลายคณะ  เช่น อุดมศิลป์ ราชศักดิ์,อุดมศักดิ์วัยรุ่น และลูกหลานบางคนได้อาศัยพื้นฐานเล่นลิเกไปจัดตั้งคณะตลกได้แก่ คณะตลก "ชวนชื่น" มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วประเทศ

นางทองคำ   สีสกุล
นางทองคำฯ มีชีวิตอยู่ระหว่างปี พ.ศ.2450-2525 ชาวบ้านเรียกนางทองคำฯ ว่า "ป้าดำ" เป็นบุตรสาวของนางทองดี  สีสกุล เป็นศิลปินผู้สืบทอดศิลปะการแสดงโขน ละคร ลิเก และดนตรีไทยจากมารดา ระหว่างอายุ 13-18 ปี ได้มีโอกาสเข้าไปศึกษาหาความรู้ด้านการแสดงโขน ละคร และลิเกจากกรุงเทพฯ เมื่ออายุได้ราว 15 ปี ได้มีโอกาสแสดงละครหน้าพระที่นั่งถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 จนเป็นที่พอพระราชหฤทัย ทรงชมว่า "เธอแสดงได้ดีมาก" และพระราชทานกระบี่ พระธำมรงค์  และเหรียญตรา ให้เป็นที่ระลึกซึ่งนางทองคำ  สีสกุล ได้ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณครั้งนี้เป็นอย่างมาก  และเล่าขานให้ลูกหลานฟังอย่างภาคภูมิใจ 

เมื่ออายุได้ 18 ปี ได้กลับไปอยู่กับมารดาที่บ้านโป่ง หาเลี้ยงชีพโดยการเล่นโขน  ละคร และลิเก และเป็นโต้โผคณะลิเก "ทองคำ ดำรงศิลป์" แสดงเป็นนางเอก  นับเป็นคณะลิเกที่มีชื่อเสียงมากคณะหนึ่งในขณะนั้น  ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี นางทองคำ  สีสกุล ได้สอบผ่านความรู้ด้านนาฎศิลป์จากกรมศิลปากร ได้บัตรประจำตัวเทียบเท่าศิลปิน  ได้สิทธิเล่นลิเกอาชีพได้

นางทองคำ  สีสกุล จัดเป็นศิลปินองค์แห่งความรู้ด้านศิลปะการแสดงโขน  ละคร ลิเก และดนตรีไทย โดยแท้ ท่านได้ฝึกหัดลิเกแก่ลูกหลานหลายรุ่น และศิษย์บางคนยังคงเล่นลิเกเป็นอาชีพจนถึงปัจจุบัน เช่น คณะบุนนาค  ทองคำศิลป์ และคณะอรวรรณ นาฎศิลป์

ต่อมานายบุญนาค  แสงใส หัวหน้าคณะลิเกบุญนาค ทองคำศิลป์ ศิษย์เอกของแม่ทองคำ  สีสกุล ได้สืบทอดและฝึกหัดลิเกตั้งแต่รุ่นเด็กถึงรุ่นใหญ่ มีลูกศิษย์ออกไปตั้งคณะลิเกสร้างชื่อเสียงให้แก่ อ.บ้านโป่ง หลายคณะ เช่น คณะน้ำผึ้ง เดือนเพ็ญ, สมพร ศิษย์เมธา,  จ๊ะเอ๋ เมธา, สุนันท์  จันทรา เป็นต้น

นางสาลี่  ทองอยู่
เป็นธิดาของนายลับ และนางละม่อม  สุนทร ชาวเพชรบุรี บิดามารดาเป็นศิลปินละครเมืองเพชรที่มีชื่อเสียง มารดาเคยเล่นละครถวายหน้าพระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6  และได้รับพระราชทานนาวมสกุล "สุนทร" นางสาลี่  ทองอยู่  ได้ฝึกหัดละครตั้งแต่อายุ 13-14 ปี เมื่อบิดาเสียชีวิตจึงได้อพยพมาตั้งรกรากทำมาหากินอยู่ใน อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี โดยเล่นละครและลิเกเป็นอาชีพหลัก ต่อมาได้แต่งงานอยู่กินกับนายเขียว  สีสกุล บุตรชายคนสุดท้องของนางทองดี   สีสกุล  ซึ่งมีความสามารถด้านการเล่นลิเก  และเล่นระนาคในวงปี่พาทย์ ต่อมาภายหลังได้แต่งงานใหม่กับนายสง่า ทองอยู่ เมื่อ พ.ศ.2500 และได้ตั้งคณะลิเก "สาลี่ศรีสง่า"  นับเป็นลิเกที่มีชื่อเสียงคณะหนึ่งของจังหวัดราชบุรี  และนางสาลี่ ทองอยู่ ได้ฝึกหัดลิเกแก่บุตรหลานจนเกิดคณะลิเกขึ้นใหม่ใน อ.บ้านโป่ง หลายคณะ เช่น คณะสมชาย  บุตรสำราญ, เพชร น้ำหนึ่ง, เนตรดาว  บุตรสำราญ, สาลิกา  สายัณห์ เป็นต้น

นายทองเคลิ้ม   คล้ายพันธุ์
เป็นลูกหลานลิเกชาวบ้านโป่งโดยแท้ ได้เริ่มฝึกหัดลิเกเมื่ออายุได้ 13 ปี จากบิดา มารดา และนางสำลี  สว่างเมฆ ผู้เป็นป้า เมื่อ พ.ศ.2489 อายุได้ 15 ปี  ได้เล่นลิเกเป็นพระเอก  "คณะ อ.แสงจันทร์"   ต่อมาได้ตั้งคณะลิเกเป็นของตนเองชื่อ "ทองเคลิ้ม  เสริมศิลป์" เคยเล่นลิเกร่วมกัยสมศักดิ์  ภักดี  คณะดำเนินศิลปิน ออกอากาศทางสถานีวิทยุ 012 กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม และสถานีวิทยุ 07 จันทบุรี

นายเคลิ้ม คล้ายพันธุ์ ได้ฝึกหัดลิเกให้ลูกศิษย์ลูกหลานอย่างต่อเนื่องหลายรุ่น  บางรุ่นออกไปตั้งคณะลิเกทำมาหากินจนมีชื่อเสียง เช่น บุญเลิศ  กังวาลศิลป์, สมรักษ์  รุ่งเรืองศิลป์   และพระเอกนางเอกในสังกัดคณะทองเคลิ้ม  เสริมป์ศิลป์ ที่มีชื่อเสียงเช่นกัน  เช่น เพชร  ไพรินทร์, ขวัญนภา  เสริมศิลป์,  รุ่ง  ดารา,  เอกชัย   เพชรไพฑูรย์ และทรงพล  ดาวรุ่ง เป็นต้น

นางลำใย   วงศ์พิชิต
มีชีวิตอยู่ระหว่าง ปี พ.ศ.2470-2522 ฉายา "ราชาละครเร่" นางลำใยฯ เดิมเป็นชาวจังหวัดอ่างทอง ฝึกหัดเล่นลิเกครั้งแรกกับครูสันโดษ  และเล่นลิเกเป็นอาชีพ   ต่อมาได้ย้ายภูมิลำเนามาหากินในเขต อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี  และตั้งคณะลิเก " สหายศิลปิน 1" โดยตนเองเป็นโต้โผและเล่นเป็นพระเอกประจำคณะ จนมีชื่อเสียงรู้จักทั่วไปในเขตจังหวัดราชบุรี  เพชรบุรี  นครปฐม และชุมพร เป็นต้น เมื่อเล่นประชันกับคณะอื่นมักชนะเสมอ และเกิดคณะลิเกสหายศิลปิน 2 และ 3 เพื่อรองรับความต้องการของเจ้าภาพที่จัดหาไปแสดง

ต่อมาได้ยุบคณะลิเกสหายศิลปิน 1 ลงเพราะคณะลิเกมีจำนวนมากขึ้น การแข่งขันสูง และรายได้ไม่ดีเท่าที่ควร จึงหันไปเล่นละครเวทีสมัยใหม่ในรูปแบบ ละครเร่ โดยเร่ปิดวิกเก็บสตางค์จากผู้ชมไปตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ โดยได้แนวคิดจากการชมละครเวที คณะ ร.ลูกไทย ที่ จ.พิษณุโลก และเกิดความประทับใจ  และตัดสินใจเปลี่ยนการแสดงลิเกมาเป็นละครเวที ปรากฏว่าได้รับการตอบรับจากผู้ชม แฟนละครเป็นอย่างดี เพราะคณะละครเวทีมีน้อยทำให้มีรายได้ดีขึ้น และสามารถสร้างตัวได้มั่นคง จนได้รับฉายาว่า "ราชาละครเร่ คุณลำใย" นางลำใยได้แสดงละครเร่ครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ.2522 ในงานนมัสการพระฉาย วัดดอนตูม อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ถึงแก่กรรมเมื่ออายุเพียง 52 ปี โดยมีนางประยูร  วงศ์พิชิต และนางพเยาว์  วงศ์พิชิต บุตรสาวคนโตและคนรอง เป็นหัวหน้าคณะแทน และนำละครเร่ออกแสดงจนถึง พ.ศ.2527 จึงได้ยุบคณะลงเนื่องจากหาตัวศิลปินผู้แสดงยาก และเป็นงานที่เหนื่อยที่ต้องเร่ออกตามสถานที่ต่างๆ ผู้แสดงไม่มีเวลาเป็นของตนเอง ปัจจุบันลูกหลานได้หันไปประกอบอาชีพรับจ้างฉายภาพยนตร์กลางแปลง และปิดวิกแทน

*****************************************************

อ่านต่อ ตำนานลิเกราชบุรี ตอน 3

ที่มาข้อมูล
คณะกรรมการอำนวยการโครงการจัดทำหนังสือ เรื่อง "วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญา". (2543). หนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดราชบุรี. กรมศิลปากร : องค์การค้าของคุรุสภา. (หน้า 170-180) (ดูภาพหนังสือ)
อ่านต่อ >>

ตำนานลิเกราชบุรี ตอนที่ 1

คำกล่าวที่ว่า "ดูลิเกไปวัดคงคา ได้วิชาไปวัดป่า(ไผ่) ฟังเทศน์ไปวัดบ้านหม้อ" (อ่านรายละเอียด)  สะท้อนให้เห็นว่าที่วัดคงคาราม อ.โพธาราม จ.ราชบุรี คงมีลิเกมาเล่นบ่อย คณะลิเกสมัยก่อนคงมีกันหลายคณะ แต่คณะที่โด่งดังจนเป็นความทรงจำที่เล่าสืบกันมา คือ คณะของตาเชื้อยายนิ่ม แห่งชุมชนโพหัก ราชบุรี

ลิเก หรือที่เรียกว่า ยี่เก เป็นการแสดงพื้นบ้านที่เป็นมรดกตกทอดของสังคมไทยมาช้านาน นิยมเล่นกันในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้มีคณะลิเกคณะหนึ่งที่ดีที่สุดในสมัยนั้น คือ คณะดอกดิน เสือสง่า (พ.ศ.2401-2477) เป็นคณะแรกของเมืองไทยที่เล่นเป็นแบบชายจริงหญิงแท้ โดยมีนางละออง  เสือสง่า บุตรสาวเล่นเป็นตัวนางประจำคณะ นายดอกดิน เสือสง่า ยังเป็นต้นตำหรับของกลอนลิเก หรือเพลงรานิเกริง ที่นิยมนำมาร้องจนถึงทุกวันนี้

ในพื้นที่จังหวัดราชบุรีและจังหวัดใกล้เคียง  อำเภอบ้านโป่งของเราเป็นย่านที่มีคณะลิเกเข้ามาตั้งหลักแหล่งมากที่สุดกว่า 40 คณะ ลิเกได้รับความนิยมเผยแพร่อย่างรวดเร็ว เพราะแต่งตัวสวยงามสมจริง เล่นได้ทั้งโศกเศร้าตลกขบขัน เดินเรื่องได้รวดเร็วทันใจมากกว่าโขน ละคร จึงทำให้บรรดาคณะโขน ละครที่มีอยู่ในขณะนั้นเปลี่ยนอาชีพมาเล่นลิเกมากขึ้น ศิลปินลิเกที่มีชื่อเสียงของอำเภอบ้านโป่งหลายคนมีพื้นฐานการแสดงมาจากโขน และละครเป็นส่วนใหญ่ อาทิ

พระราชวรินทร์ (กุหลาบ  โกสุม)
พระราชวรินทร์ (กุหลาบ โกสุม) นี้เป็นชาวสวนกล้วย อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เป็นบุตรของหลวงกมล  ภักดี (บัว โกสุม) และนางอิน โกสุม รับราชการในกรมมหรสพ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6  มีความเชี่ยวชาญเรื่องดนตรีไทย การตีระนาดเอก เล่นโขนแสดงเป็นตัวทศกัณฑ์  ชำนาญบทเกี้ยวนางสีดา ตอนทศกัณฐ์ลงสวน และเก่งการเล่นละครออกภาษาลาวเพราะชำนาฐมาจากลิเก จนเป็นที่โปรดปราน และได้พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "พระราชวรินทร์"  และได้รับพระราชทานเครื่องปี่พาทย์เครื่องใหญ่ 1 ชุด พร้อมเรือนไม้สักทรงไทย 1 หลัง ต่อมาได้ทูลเกล้าฯ ถวายบรรดาศักดิ์คืนและออกมาเล่นโขนลิเกเป็นการส่วนตัว

ขุนแก้ว  กัทฑลีเขตร์ (แก้ว  โกสุม)
ขุนแก้วฯ นี้มีชีวิตระหว่างปี พ.ศ.2423-2503 เป็นบุตรชายคนโตของหลวงกมล ภักดี และเป็นพี่ชายของพระราชวรินทร์  รับราชการในกรมมหรสพเช่นเดียวกับพระราชวรินทร์ มีความสามารถด้านการแสดงโขนเป็นตัวทศกัณฐ์  ต่อมาได้สมรสกับนางเชื้อ โกสุม (อัคนิทัต) ซึ่งมีความสามารถในการแสดงโขนเป็นตัวพระลักษณ์ และพระราม บุคคลทั้งสองนับเป็นองค์ความรู้ด้านศิลปะการแสดงโขน ละคร ลิเก และดนตรีไทย ได้เป็นครูฝึกหัดลูกหลานชาวบ้านสวนกล้วย อ.บ้านโป่ง ให้สามารถเล่นโขน ละคร และลิเกได้อย่างชำนาญ  โขนละครขุนแก้ว มีชื่อเสียงเป็นที่รู็จักทั่วไปใน จ.ราชบุรี เพชรบุรี และจังหวัดใกล้เคียง โดยใช้ชื่อคณะว่า "บำรุงโบราณนาฎ"

นายประกอบ  โกสุม
นายประกอบฯ มีชีวิตอยู่ระหว่างปี พ.ศ.2466-2539 เป็นบุตรของขุนแก้ว  กัทฑลีเขตร์ (แก้ว  โกสุม) และนางเชื้อ โกสุม เคยรับราชการครู ต่อมาได้ลาออกจากราชการมาเล่นโขน  ละคร และลิเก  เป็นการส่วนตัว ในการแสดงโขนมักเล่นเป็นตัวพระราม คู่กับนางประพิมพ์  อุตสาหะ  ซึ่งเล่นเป็นตัวนางสีดา

คณะบำรุงโบราณนาฎ นายประกอบ โกสุม ได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้ด้านศิลปะการแสดงจากบิดา  มารดา และเป็นครูสอนการแสดงโขน  ละคร ลิเก และดนตรีไทย แก่ลูกหลานบ้านสวยกล้วย ตลอดจนนักเรียนตามสถานศึกษาต่างๆ สามารถครอบครูโขน  ละคร เป็นที่รู้จักกันทั่วไป คณะลิเกรุ่นลูกหลานที่สืบทอดวิชาศิลปะการแสดงจากครูประกอบ โกสุม ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักได้แก่ คณะอุดมพรวัยรุ่น โดยมีชวลิต  อิ่มทรัพย์ เป็นพระเอกและแสดงร่วมกับคณะลิเกสมศักดิ์  ภักดี พระเอกลิเกเงินล้าน ลิเกโทรทัศน์ช่อง 9 นอกจากนี้ยังมีคณะนพดล  หลานอุดมพร และคณะประทีป ทวนทอง เป็นต้น

นางทองดี  สีสกุล
นางทองดีฯ มีชีวิตอยู่ระหว่างปี พ.ศ.2421-2518 มีชื่อเล่นว่า "ดี่" เป็นชาวตำบลบางช้าง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม  ต่อมาได้พาครอบครัวอพยพมาทำมาหากินด้านการแสดงโขน ละครในเขตอำเภอบ้านโป่ง  นางดี่ สีสกุล นับเป็นศิลปินชั้นครู เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถทั้งด้านการแสดงโขน  ละคร และลิเก ได้ถ่ายทอดศิลปะการแสดงโดยเฉพาะลิเกให้แก่บุตรหลานได้ยึดเป็นอาชีพทำกินจนถึงทุกวันนี้

นางยุพิน  เสือสง่า
โต้โผลิเกคณะยุพิน เสือสง่า เป็นบุตรสาวคนสุดท้องของนายดอกดิน  เสือสง่า (คณะลิเกที่ดีที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 6) ได้มาแสดงประจำที่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี และได้สมรสกับ นายสนิท สีสกุล บุตรชายของนางทองดี  สีสกุล ซึ่งมีความสามารถด้านการตีระนาด นางยุพินฯ จึงเป็นสะใภ้ของ อ.บ้านโป่ง นางยุพิน เสือสง่า ได้ฝึกหัดลูกศิษย์หลายรุ่นออกไปตั้งคณะลิเกเรียกว่า "ศิษย์เสือสง่า"

***************************************

อ่านต่อ ตำนานลิเกราชบุรี ตอนที่ 2

ที่มาข้อมูล
คณะกรรมการอำนวยการโครงการจัดทำหนังสือ เรื่อง "วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญา". (2543). หนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดราชบุรี. กรมศิลปากร : องค์การค้าของคุรุสภา. (หน้า 170-180) (ดูภาพหนังสือ)

อ่านต่อ >>

วันอังคารที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

พระปรางค์ วัดอรัญญิกาวาส


พระปรางค์วัดอรัญญิกาวาส
ต.เจดีย์หัก อ.เมือง จ.ราชบุรี

สร้างเมื่อปี พ.ศ.2030-2035
เป็นเจดีย์ 5 องค์แบบบัวผันสร้างไว้ 4 มุมรอบพระปรางค์
ซึ่งปัจจุบันเหลือทางทิศใต้เท่านั้น ลักษณะเป็นหินทราย

ผู้สร้าง ขุนหาญ บุญไทย

บูรณะครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2425-2440 จึงแล้วเสร็จ

อ่านต่อ >>

วันพุธที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2554

มีอะไร? ในถนนสายวัฒนธรรมราชบุรี ปี พ.ศ.2554

บทความนี้ตั้งใจเขียนเพื่อบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดงาน "ถนนสายวัฒนธรรม" ของจังหวัดราชบุรี ประจำปีงบประมาณ 2554 ว่า ผู้จัดงานได้จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม อะไรไว้บ้าง ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์หรือเป็นแนวทางของผู้จัดงานเกี่ยวกับวัฒนธรรมของราชบุรีเรา วาระอื่นๆ ในอนาคต 

ถนนสายวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ 2554 นี้ กำหนดจัดงานในวันที่ 6-7 พฤษภาคม พ.ศ.2554 ณ บริเวณสนามกีฬากลางจังหวัดราชบุรี โดยเจ้าภาพผู้จัด คือ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี โดยจัดควบคู่ไปกับ การแข่งขันกีฬาชาวไทยภูเขาแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 23  "พญาผึ้งเกมส์" ซึ่งจังหวัดราชบุรีได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพ จัดการแข่งขันในระหว่างวันที่ 6-10 พฤษภาคม พ.ศ.2554 ทั้งนี้วัตถุประสงค์ส่วนหนึ่งก็มุ่งหวังเผยแพร่วัฒนธรรมของ จ.ราชบุรี ของเรา ให้แก่ คณะกรรมการ เจ้าหน้าที่ และนักกีฬาชาวไทยภูเขาที่มาร่วมแข่งขันครั้งนี้ ซึ่งมีจำนวนถึง 20 จังหวัด

มีอะไรในถนนสายวัฒนธรรม
วันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2554

เวลา 12:00 น.กิจกรรมโครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน
  • นิทรรศการและสาธิตถ่ายทอดภูมิปัญญา/จำหน่าย 
  • การสาธิตภูมิปัญญา ประกอบด้วย
    • การปั้นโอ่ง
    • การทำกระดิ่งทองเหลืองแบบโบราณ
    • การตอกหนังใหญ่
    • การแทงหยวก
    • การตัดกระดาษฉลุลาย
    • ประเพณีผูกแขนเรียกขวัญชาวไทยกระเหรี่ยง
เวลา 14:00 น.
  • การฟ้อนแคนชาวไทยทรงดำ
  • ซุ้มกิจกรรมวัฒนธรรม สภาเด็กและเยาวชนจังหวัดราชบุรี
  • ซุ้มกิจกรรมด้านศิลปะ
  • การจำหน่ายสินค้า OTOP
เวลา 18:00 น.
  • ลานอาหาร 8 ชาติพันธุ์ การสาธิตประกอบอาหาร/ชิมฟรี
เวลา 18:30 น.
  • การกล่าวต้อนรับคณะนักกีฬาชาวไทยภูเขา
  • การแสดงโปงลาง
  • การแสดงโชว์หนังใหญ่
  • การเดินโชว์ตัวของผู้เข้าประกวดธิดาชาวไทยภูเขา


วันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2544


เวลา 17:00 น. กิจกรรมโครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน
  • นิทรรศการและสาธิตถ่ายทอดภูมิปัญญา/จำหน่าย
  • การสาธิตภูมิปัญญา ประกอบด้วย
    • การปั้นโอ่ง 
    • การทำกระดิ่งทองเหลืองแบบโบราณ
    • การตอกหนังใหญ่
    • การแทงหยวก
    • การตัดกระดาษฉลุลาย
    • การแสดงรำกระทบไม้ของชาวไทยกระเหรี่ยง
    • การแสดงวงแคนชาวไทยยวน
  • ลานอาหาร 8 ชาติพันธุ์ การสาธิตประกอบอาหาร/ชิมฟรี
  • ซุ้มกิจกรรมวัฒนธรรม สภาเด็กและเยาวชนจังหวัดราชบุรี
  • ซุ้มกิจกรรมด้านศิลปะ
  • การจำหน่ายสินค้า OTOP
เวลา 19:00 น.พิธีเปิดโครงการถนนสายวัฒนธรรม
  • แขกผู้มีเกียรติพร้อมกัน ณ เวทีการแสดง
  • วัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี กล่าวรายงาน
  • ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี กล่าวเปิดงาน
  • การแสดงหุ่นละครเล็ก
  • การเดินประกวดธิดาชาวไทยภูเขา
  • การแสดงหุ่นคน
  • การแสดงดนตรีลูกทุ่งของเยาวชน


**************************************


ที่มาข้อมูล
หนังสือวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี ที่ รบ.0031/424 เรื่อง โครงการถนนสายวัฒนธรรม ลงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2554
อ่านต่อ >>

วันอังคารที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2554

ประเพณี 12 เดือนคนมอญ

ภาพนี้ถ่ายมาจากพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง ต.บ้านม่วง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี
เมื่อ 17 เม.ย.2554

ประเพณี 12 เดือนของคนมอญในประเทศไทย มีธรรมเนียมปฏิบัติอยู่บนหลักความเชื่อทางพุทธศาสนาและการนับถือผี โดยจัดแบ่งช่วงเวลาประกอบพิธีกรรมสัมพันธ์กับการกสิกรรมในรอบปี คือ
  1. เดือนห้า บุญสงกรานต์
  2. เดือนหก แรกนาขวัญ
  3. เดือนเจ็ด ถวายผ้าอาบน้ำฝน
  4. เดือนแปด เข้าพรรษา - ถวายเทียนพรรษา
  5. เดือนเก้า ทำบุญแด่ผู้ล่วงลับ - หว่านข้าวทำนาดำ
  6. เดือนสิบ ตักบาตรน้ำผึ้ง - ตำข้าวเหนียว
  7. เดือนสิบเอ็ด บุญออกพรรษา - กวนกระยาสารท
  8. เดือนสิบสอง ไหว้แม่โพสพ - ตั้งศาล
  9. เดือนอ้าย ทำข้าวเม่าถวายผีเรือน - ตำข้าวเม่า
  10. เดือนยี่ ลงแขกเกี่ยวข้าวนวดข้าว
  11. เดือนสาม บุญโอะห์ต่าน  - บุญข้าวหลาม
  12. เดือนสี่ ฤดูทำนาสะสางงานบ้าน - ผู้ชายจักสาน ผู้หญิงทอผ้า
ที่มาข้อมูล
ศูนย์มอญศึกษา. (2550). นำชมพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง. กรุงเทพฯ : กระทรวงวัฒนธรรม. (หน้า 35)
อ่านต่อ >>

วันจันทร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2554

บานหน้าต่างไม้แกะสลัก วัดใหญ่อ่างทอง


ภาพชุดบานหน้าต่างไม้แกะสลัก


บานหน้าต่างไม้แกะสลัก
บริเวณอุโบสถชั้นล่างของวัดใหญ่อ่างทอง ต.อ่างทอง อ.เมือง จ.ราชบุรี
เป็นภาพแกะสลักเกี่ยวกับสุภาษิตและคำพังเพย รวมจำนวนทั้งสิ้น 60 บาน
อุโบสถนี้สร้างระหว่างปี พ.ศ.2532-2539
ใช้งบประมาณ 19,500,000 บาท
สร้างในสมัยพระครูธีรญาณประยุต (เชื้อ ธีรปฺญโญ)
ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ 3 พฤศจิกายน 2538

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
ประวัติวัดใหญ่อ่างทอง

ถ่ายภาพโดย สุชาต จันทรวงศ์ : 13 มี.ค.2554

อ่านต่อ >>