วันอาทิตย์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2555

รวมเพลงรำโทนโพหัก 48 เพลง


เนื้อเพลงที่ร้องก็จะเป็นเพลงของบรรพชนของคนโพหักได้แต่งเอาไว้ ไม่ได้เอาเพลงของที่อื่นมาร้อง จึงเป็นที่ภาคภูมิใจของคนโพหักเป็นอย่างยิ่ง เนื้อเพลงที่นำมาร้อง จะเป็นเพลงที่มีเนื้อเพลงสั้น ๆ จำได้ง่าย เวลาร้องจึงต้องร้องวนซ้ำ 3 รอบ ใช้เวลาประมาณเกือบ 3 นาที เนื้อหาในเพลงส่วนใหญ่จะบรรยายถึง ธรรมชาติ ความรู้สึก อารมณ์ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัว เนื้อร้องและทำนองสนุกสนานชวนรำ

เพลงรำโทนโพหักจากการรวบรวมของอาจารย์มณฑิตย์สา มั่นฤกษ์ มีประมาณร้อยกว่าเพลง แต่อาจารย์มณฑิตย์สา เลือกมาใช้ ประมาณ 48 เพลง เพราะเป็นเพลงที่มีความไพเราะ จังหวะสนุกสนาน ท่ารำก็สวยงามและเป็นเพลงที่มีเนื้อร้องไม่เหมือนใคร เป็นเอกลักษณ์ของเรา ทั้งเนื้อเพลงและท่ารำ จะใช้ความจำสืบทอดกันมา ไม่มีการดัดแปลง จำมาอย่างไรก็ร้องและรำกันต่อ ๆ มาอย่างนั้น

ชีวิตชาวบ้านสมัยจอมพล. ป
จากการสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ที่ยังมีชีวิตอยู่และมีความรู้เรื่องรำโทนโพหัก บางคนก็เป็นลูกหลานของพ่อเพลงแม่เพลง และคนที่เคยรำโทนเล่าให้ฟังว่า สมัยจอมพล ป.พิบูลย์สงคราม เป็นใหญ่ในบ้านเมือง (นายกรัฐมนตรี) ในสมัยนั้นไม่ให้แสดงลิเก และในช่วงเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 บ้านเมืองอยู่ในภาวะสงคราม ยามค่ำคืนบ้านเมืองจะมีแต่ความมืดไปทุกหนทุกแห่ง เนื่องจากรัฐบาลห้ามจัดงานใดๆ ห้ามจุดไฟ และจุดตะเกียง ทุกบ้านจะต้องอยู่ในความมืด เพราะกลัวเครื่องบินทิ้งลูกระเบิด ต้องพากันหลบซ่อนตามสุมทุมพุ่มไม้ และหลุมหลบภัย ทำให้ประชาชนเกิดความเหงาและวังเวง

คณะรำโทนสีทอง
แต่ประชาชนชาวโพหัก ยามสงครามยังมีอารมณ์แต่งเพลงบรรยายสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และเอามาร้องรำกันเพื่อคลายความเหงา และความกลัว พอหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวบ้านที่ชอบสนุกสนานก็ชอบนำเพลงมาร้องรำกัน หลวงพ่อแม้น เจ้าอาวาสวัดใหญ่โพหักสมัยนั้น ก็ให้การสนับสนุน จึงตั้งชื่อคณะวงรำโทน ว่า “คณะรำโทนสีทอง” และให้รำในงานวัดเรื่อยมา

เพลงรำโทนโพหักที่เลือกมาใช้ในปัจจุบัน
  1. เพลงไทยรงค์ธงชัย "ไทยรงค์ธงชัย..โบกไสวลอยละลิ่ว เห็นธงไทยปลิว..ห้าริ้ว..สีทอง ท้องฟ้าสีครามมองดูงามสดใส ยิ่งกว่าเกียรติใด..ของไทยนั้น เราพลีชีวิต..เอาโลหิต..เข้ามาเสริมส่ง กระดูกแขนนั้น..ทำเป็นแท่นไตรรงค์ เอากระดูกเสริมส่ง .. ธงไทยสมรภูมิ"
  2. เพลงพบสาวงาม "ยามเมื่อพบสาวงาม ฉันขอตามไปด้วย โอ้แม่คนสวย..ถามว่าจะไปไหนกัน (ญ) ฉันจะไปทางไหน มันเรื่องอะไรของเธอนั่นเล่า (ช) ฉันพูดเบาๆ ว่าฉันกระไรรักเธอ (ญ) ฉันไม่รับรัก ประเดี่ยวเมียเธอตามมาด่า (ช) เมียพี่ไม่มา สัญญากันว่าไม่มี (ญ) ไม่มีก็ไม่รัก (ช) อกหักเสียแล้วคราวนี้ (ญ) ไม่รู้ไม่ชี้ ไปซิ..ฉันไม่อยากรำ ไปซิ..ฉันไม่อยากรำ"
  3. เพลงรำวงสุขใจ "รำไปยิ้มไป พอเข้าใกล้หัวใจเต้นแรง เขยิบนิด เขยิบนิด ถอยหน่อย(ซ้ำ)พระจันทร์ดวงน้อยกำลังทอแสง เป็นประกายฉายลงมา(ซ้ำ) พอสบสายตาใบหน้าเธอแดง"
  4. เพลงมองใบหน้า "มองใบหน้างามตาเสียจริงนะเออ ดอกไม้ของชาติ สวยสะอาดช่างบาดในตา ช่างตบ แหม ช่างแต่ง ปากก็แดงแก้มก็ทา เอวก็กลมผมเป็นลอนเหมือนนางกินนรที่ร่อนลงมา(ซ้ำ)"
  5. เพลงแลไม่สมหวัง "แล แล แล แลแล้วก็ไม่สมหวัง คู่รักฉันมาหรือยัง คู่รักฉันมาหรือยัง ช่วยบอกฉันบ้าง ฉันจะตั้งตาแล"
  6. เพลงสาริกา "มองแลมองสายตาแลจ้องสอดส่องไปหาเธอ สาริกามันน่าเอ็นดู จับเรียงเคียงคู่ เห็นอยู่เรียงราย แลดูสวย แลดูสวย แลดูงาม(ซ้ำ) หัวใจชุ่มฉ่ำโอ้แม่สาริกา โผผินบินมาใกล้รัง(ซ้ำ) ฉันรักเธอจังโอ้แม่ฟันเลี่ยมทอง"
  7. เพลงนอนฝัน "เมื่อคืนนอนฝัน แลเห็นพระจันทร์ลอยมาใกล้มือ(ซ้ำ) เมฆหมอกมาบังไม่มีกำลังจะยึดจะยื้อ เพราะบุญชายน้อย ลอยไปจากมือ ดวงจันทร์นั่นหรือคือตัวน้องนี่เอง"
  8. เพลงสาวน้อย "สาวน้อยลอยคว้าง นกกระยางบินเทียมเมฆา สวยสมอารมย์สง่า(ซ้ำ) มาเจอดาราอยู่ในวงฟ้อนรำ คนสวยขอเชิญมารำ คนงามขอเชิญมาฟ้อน พระอาทิตย์ทอแสงอ่อนๆ(ซ้ำ) จวนจะจรลับเหลี่ยมเมฆา (ซ้ำ)"
  9. เพลงลาที "ลาที ลาที ลาที สวัสดีคืนนี้ลาก่อน (ซ้ำ) ที่จริงนะไม่อยากจะไป(ซ้ำ) เพราะบ้านอยู่ไกล จำใจจากจร สาบานต่อหน้าเทวา(ซ้ำ) จำใจจากลาเมื่อถึงเวลาจากจร"
  10. เพลงหนองปลาดุก "หนองปลาดุกนี่เอ๋ย ไม่นึกเลยจะถูกโจมตี ญี่ปุ่นเขามาเป็นมิตร ไปทิ้งอังกฤษถูกไล่ราวี ปืนใหญ่ยิงไปก็ไม่ถึง เสียงตึงตึง ลงมาถึงนี่(ซ้ำ) เรือบินไทยขับไล่หวุดหวิด(ซ้ำ) ไปทิ้งอังกฤษที่สนามอินเดีย อินเดียนอนตายเป็นระดะ(ซ้ำ) ยกมือ ชัยชนะก็ขึ้นแก่ไทย"
  11. เพลงญี่ปุ่นคนโต "ญี่ปุ่นคนโต ตีสิงคโปร์แตกกระจาย ญี่ปุ่นหลบภัย ไทยเรายังเฝ้าประคอง ต่อไปขอให้ไทยเจริญ ดิ่ง ดิ๊ง ดิ่ง ดีง ดิ่ง ดิ๊ง ดิ่ง ดีง ดิงแหละ ระดิ่ง ดิง ดิง"
  12. เพลงหลุมหลบภัย "หวอเสียงครวญ..ชักชวนหาที่หลบภัย เรือบินของข้าศึกมา เร็วๆ อย่าช้าร่ำไร เร็วๆ ไวไว ลงหลุมหลบภัย แล้วไม่ต้องกลัว ถึงอยู่ในหลุมหลบภัย รำวงก็ได้โอ้แม่ทูนหัว หว๊า..ไม่ต้องกลัว โอ้แม่ทูนหัวหมดอันตราย"
  13. เพลงปักษาบิน "บิน ละล้า ละบิน....ล้า ลา ลา ลา บิน ละล้า ละบิน ตะวันรอน รอน เมื่อตอนเช้าตรู่ เอ๋ย...ดู ปักษาจะบิน"
  14. เพลงคนบ้านไกล "บ้านไกลฉันยังอุตส่าห์มา แก้วตา..ฉันขอรำด้วย หากแม้รำไม่สวย จะขอรำด้วยเคียงคู่ไปกับเธอ เธอยิ้ม เธอยิ้มให้สักนิด อย่ามาคิดว่าฉันนี้ลวนลาม หากแม้ว่าเธอรำงาม ฉันขอรำตามเคียงคู่ไปกับเธอ"
  15. เพลงบ้านฉันอยู่ไกล "บ้านฉันอยู่ไกล แต่ใจยังรักเธอจริง เอย..เพราะความรัก อย่าประวิง..ถ้าไม่จริงฉันคงไม่มา ทิงลา ละล้า ละลา ทิงลา ละล้า ละลา(ซ้ำ)"
  16. เพลงแลดูน้ำทะเล "มองดูน้ำทะเล แลดูเป็นสีเขียว ฉันมารำคนเดียว ไม่มีคู่..รำเคียง ฉันไม่ใช่คนรัก เขาไม่สมัครใจรำ เขากลัวชอกช้ำ ประดุจดังน้ำในทะเล"
  17. เพลงรำหรือยัง "รำหรือยังเล่าเธอ ฉันเจอฉันอยากจะรำ ยวนตา..มหาเสน่ห์ หอมดอกรักเร่เสน่ห์คนรำ"
  18. เพลงช่อมาลี "ช่อมาลีดอกฟ้า สัญญาว่าจะเล่นรำวง ตัวฉันตั้งใจจะมาโค้ง (ซ้ำ) มาเล่นรำวง มาซิมาซิมา"
  19. เพลงแลไม่สมหวัง "แล แล แล แลแล้วก็ไม่สมหวัง คู่รักฉันมาหรือยัง คู่รักฉันมาหรือยัง ช่วยบอกฉันบ้าง ฉันจะตั้งตาแล" 
  20. เพลงมองไม่เห็นใคร "มอง มอง มอง ฉันมองก็ไม่เห็นใคร เอ้า..มอง มองไป โอ้แม่ขวัญใจของพี่ก็มา ทิง ลา ละล่า ละลา ฉันมาเพราะความรักเธอ ฉัน ฉันมาเพราะความรักเธอ"
  21. เพลงนวลแสงนวล "เพลงแสงนวล นวลแสงทอง แม่นวลน้อง แสงทองเนื้อเย็น เคยโค้งกันคืนนั้นมา ตาแลตา ตาจ้องมองกัน ตาแลตาตาจ้องมองกัน" 
  22. เพลงกระต่ายจ๋า "กระต่ายจ๋า ช่างน่ารักจริง พระจันทร์ทอดทิ้ง แลดูก็เศร้าใจ โอ้พระจันทร์นั้นลอยไปไกล(ซ้ำ) จะทำอย่างไรจึงจะได้ชมจันทร์ (ซ้ำ)"
  23. เพลงรักซี "รักซี รักซี รักซี สวัสดี ยินดีต่อกัน พุ่มพวงแม่ดวงชีวัน พุ่มพวงแม่ดวงชีวัน เธอกับฉันสมานไมตรี สมานไมตรียินดีต่อกัน" 
  24. เพลงเพลิน "เพลิน เพลิน เพลิน ฉันเพลินไปด้วยความรัก ฉันรักไปด้วยความจริงโยทิง โยทิง โยทิง รักจริงอย่าได้ระแวง ใจชายหน่ายแหนง อย่าระแวงให้ร้าวระทม" 
  25. เพลงดูซิหมู่นารี "ดูซิหมู่นารี สวยดีทัดดอกจำปา พี่แบกรักมาน้องไม่รับรัก หัวอกจะหักช่างเธอ..ประไร พ่อช่อมะกอก แม่ดอกมะไฟ เธอรักฉันไหม ทำไมจะไม่รัก เธอรักหลอนหลอก ใครบอกเธอเล่า สาบานก็เอา ให้เต่ากัดตาย"
  26. เพลงพวงพะยอม "พวงพะยอมหอมกระไร แม้เพียงจะได้เด็ดดม(ซ้ำ) แหม.. แหม เพียงจะได้เด็ดดม ชมแล้วให้เซียวกระสัน รักน้องไม่มีวันลืม หัวใจปลาบปลื้มไม่ลืมรักกัน ปลาบปลื้มลืมทุกข์ สนุกใจกัน"
  27. เพลงยิ้มยั่วยวน "ยิ้มยั่วยวน ชวนยั่วตา ยิ้มยั่วมาสายตามองจ้อง มอง..ยิ่งมอง สายตาน้องกระไรหวานฉ่ำ หนาวรัก หนาวรักปักใจ เมื่อเราคิดไปหัวใจเพ้อพร่ำ หนาวเนื้อบาง หนาวอุรา..หนาวรัก..ปักทรวง(ซ้ำ)"
  28. เพลงยิ้มมา "ยิ้มมา น้องมา..น้องมา มาสัญญากันใหม่ โกรธเคืองกันเรื่องอะไรมารักกันใหม่ มาซิมา ซิมา ยิ้มให้พี่สักหน่อย พี่จะได้คอยยิ้มให้เธอบ้าง ยิ้มให้เป็นตัวอย่าง สองเราต่างยิ้มกันเมื่อถูกใจ ยามเมื่อรักจะโรย พี่จะโปรยรอยยิ้มไปให้ ยิ้มมายิ้มกันใหม่ ดูซิใครจะยิ้มสวยกว่ากัน"
  29. เพลงป่าระหงส์ "ชะช่า ป่าระหงส์ ปีกอ่อนร่อนลง..ในดงมะขวิด ขยับเข้าไปใกล้ เอาหัวไหล่เข้าไปชิด(ซ้ำ) เอื้อมมือสะกิด ถูกนิดเป็นไร"
  30. เพลงค่ำคืนชื่นใจ "ค่ำคืนชื่นใจ เห็นหนุ่มสาวไทยมาเริงระบำ ยักย้ายร่ายรำ เห็นหนุ่มสาวงามมารำคู่ เพลิดเพลินน่าดู(ซ้ำ) นึกว่าอดสูไม่มีคู่จะรำ น้องเมียงพี่มอง สายตาน้องกระไรหวานฉ่ำ ฝากรักเอิงเอย ฝากคำ(ซ้ำ) น้องเมียงมารำกันนะสนุกเอย..."
  31. เพลงสายลมหวน "สายลมหวล..เมื่อจวนจะรุ่ง จวนจะรุ่งสะดุ้งหนาวใจ เหลือบชะแง้แลหา สุริยาจากฟ้า..ร่ำไร นกกระจาบจะหลาบช่อไม้ แลให้หัวใจรอนรอน เขาที่มาเย้ยข้า.. ขายหน้าพวกที่มารำวง รุ่นใหม่เป็นไก่เคยชน(ซ้ำ) ถ้าน้องไม่โอนต้องหล่นดินแดง"
  32. เพลงเพลินสาวหนุ่ม "เพลิน.. หละสาวหนุ่ม จับกลุ่มทำนองกงก้า เต้นระบำแอ๊คท่า รำกงก้า ดูสบายใจ เธออย่าคิด เอียงอาย เราหญิงชายด้วยกัน เต้นกงก้าสัมพันธ์ เธอนั้นเต้นระบำกงก้า โกง ละกงก้า (ซ้ำ)"
  33. เพลงฉันนี้หวั่นใจนัก "ฉันนี้หวั่นใจนัก มาในถิ่นแดนรัก สวยนักที่เรารักใคร่ มาในถิ่นแดนไกล สุขหัวใจที่ได้พบเธอ ฉันมาประเดี๋ยวเดียว ฉันจะเกรี้ยวกลัวเธอจะโกรธหากจะมาลงโทษ ฟ้าดินไม่โปรด..จะโทษใครกัน"
  34. เพลงฝนจ๋าฝน "ฝนจ๋าฝน ฝนกระเซ็น กระเด็นเป็นฝอย โอ้เจ้าฝนเม็ดน้อย ล่องลอยไปตามสายลม ต่างวิ่งเล่นไปมา ตามประสาของตน เธอกับฉันหน้ามล สองคนกำลังเยาว์วัย(ซ้ำ)"
  35. เพลงยามเมื่อค่ำ "ยามเมื่อย่ำค่ำ ธรรมชาติสดใส สวยอะไรเมื่อยามเย็น ลมที่พัดสายชู มองดูมันสาดกระเซ็น ลมทะเลพัดเย็น ลมทะเลพัดเย็น มาเย็น เย็น เย็น สดชื่นหัวใจ(ซ้ำ)"
  36. เพลงลอยละลิ่วปลิวมา "ลอยละลิ่วปลิวมา ปลิวมาที่วงรำวง โพหักของเรานี่หนอ ถึงรูปไม่หล่อ..แต่หัวใจซื่อตรง" 
  37. เพลงยามเย็น "ยามเย็นเดินเล่นชายหาด คลื่นมันซัดน้ำกระเซ็น ลมทะเลพัดเย็น เย็น เย็นสดชื่นหัวใจ" 
  38. เพลงกาเหว่า "กาเหว่าบินลอยละล่อง หงษ์ทองบินล่องลอยลม จะชมดาวเมื่อไหร่จะชม(ซ้ำ) หันหลังทวนลมน่าชมจริงเอย" 
  39. เพลงนกยูง "นกยูงกำลังแผ่หาง นกกระยางดำน้ำตูดโด่ง นกกระริง เกาะกิ่งสำมะโรง เอาไม้เควี้ยงโครงชักดิ้น ชักงอ"
  40. เพลงไถ "ไถเอยจะบอกให้ ไถไปให้ดินร่วนดี ไถนาหน้านี้ ไถดีอยู่ดินหน้าเดียว แตกกอแตกกอ แตกเกี่ยว เกี่ยวทั้งข้าวเหนียว เกี่ยวทั้งข้าวเจ้า เกี่ยวทั้งข้าวเบาเอามาขายกิน นาดำก็ทำหมดสิ้น ข้าวตกถึงดินบนถิ่นนาเรา"
  41. เพลงเกี่ยวก้อย "เกี่ยวก้อยกันเดิน เพลินฤทัย เดินไปหาคู่ฟ้อนรำ" 
  42. เพลงแซมบ้า "แซมบ้าพารักสลักใจ เพลิดเพลินฤทัยเร็วไวไปตามเสียงเพลง ควรคิดยวนยั่วครื้นเครง เรารักกันเองเป็นเพลงแซมบ้า(ซ้ำ)" 
  43. เพลงโพหัก "โพหักของเรานี่เอย ไม่นึกเลยจะมีตาหวาน สวยนักรักอยู่เป็นนาน(ซ้ำ) ไม่อยากกลับบ้านเสียแล้วละเอย" 
  44. เพลงเพลินสาวหนุ่ม "เพลิน.. หละสาวหนุ่ม จับกลุ่มทำนองกงก้า เต้นระบำแอ๊คท่า รำกงก้า ดูสบายใจ เธออย่าคิด เอียงอาย เราหญิงชายด้วยกัน เต้นกงก้าสัมพันธ์ เธอนั้นเต้นระบำกงก้า โกง ละกงก้า (ซ้ำ)" 
  45. เพลงรักซี "รักซี รักซี รักซี สวัสดียินดีต่อกัน พุ่มพวงแม่ดวงชีวัน พุ่มพวงแม่ดวงชีวัน เธอกับฉันสมานไมตรี สมานไมตรียินดีต่อกัน" 
  46. เพลงคืนเดือนหงาย "ยามเมื่อคืนเดือนหงาย แสงจันทร์ฉายสว่างนภา เมฆน้อยลอยลงมา สว่างนภาดุจแสงกลางวัน ตัวพี่เปรียบเหมือนกระต่ายต้อย สาวน้อยเปรียบเหมือนดวงจันทร์ เรามารักกัน รักกันให้มั่นเอาไหมเล่าเธอ(ซ้ำ)" 
  47. เพลงเสียงดังตูม "ตูม ตูม ตูม เสียงดังตูมน้ำกระจาย ตูม ตูม ตูม เสียงดังตูมน้ำกระจาย คุณยายทำนา แหมตุณตาสั่งขาย อัดสลึง เห่! แมมโบ้ตูม ตูม ตูม เสียงดังตูมน้ำกระจาย ยายเอย กระโดน้ำดังตูม"
  48. เพลงอรุณบันเทิง "ยามเมื่อร่วมบันเทิง สำเริงสำราญประสานบทเพลง ฟังเสนาะจับใจใครหนอบรรเลงเป็นเพลงให้เราร้อง ดูซิหมู่สาวสวย ช่วยกันมอง นกน้อยลำพองเสียงแจ้วแจ้ว แว่วมาขันคู จุ๊กกรู จุ๊กกรู ฮุกกรู ฮุกกรู จุ๊กกรู จุ๊กกรูฮุกกรู ฮุกกรู ทิง ละ ล้า ล่า ลา ทิง ละ ล้า ล่า ลา ล้า ลา ล่า ลา พาชื่นชูใจ"



*************************
ที่มาข้อมูลและภาพ
  • sin.(2552). รำโทนโพหัก อนุรักษ์วิถีไทยพื้นถิ่นโพหัก อ.บางแพ จ.ราชบุรี. [Online]. Available :http://romtonepohuak.blogspot.com/. [2555 เมษายน 8 ].
อ่านต่อ >>

การรำโทนโพหัก

ประวัติความเป็นมา
เพลงรำโทนโพหัก เป็นเพลงพื้นบ้านที่เกิดต่อจากเพลงโอก เพลงสงฟาง เพลงสงคอลำพรวน เพลงพานฟาง เพลงชักกระดาน ของคนโพหัก เป็นต้น ซึ่งการละเล่นนี้มีมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือประมาณปี พ.ศ.2479 เป็นเพลงที่ร้องเล่นกันระหว่างหนุ่มสาว เกี้ยวพาราสีกัน โดยจะแสดงในงานรื่นเริง เช่น งานตรุษ งานสงกรานต์ และ งานประเพณี เช่นงานทอดกฐิน แข่งเรือ แสดงกันบริเวณวัด ซึ่งจะเป็นการพบปะกันระหว่างชายหนุ่มกับหญิงสาว

เนื้อเพลงและท่ารำก็จะเป็นการเกี้ยวพาราสีกันระหว่างชายหนุ่มกับหญิงสาวในหมู่บ้านและต่างถิ่น จะเริ่มแสดงในช่วงหัวค่ำจนถึงเช้าของวันรุ่งขึ้น และแสดงภายใต้แสงคบเพลิงหรือแสงจากตะเกียงอีด้า (ตะเกียงเจ้าพายุ) เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีไฟฟ้าใช้ รำโทนโพหักได้สูญหายไป 70 กว่าปีแล้ว อาจเนืองมาจากความเจริญของบ้านเมืองและมีการละเล่นอื่นๆเกิดขึ้นอีกมากมาย ทำให้ผู้คนหันไปสนใจของใหม่ จึงเป็นสาเหตุทำให้รำโทนโพหักหายไป

กลับฟื้นคืนตำนาน....
อาจารย์มณฑิตย์สา มั่นฤกษ์
ในปี พ.ศ.2541 อาจารย์มณฑิตย์สา มั่นฤกษ์ ครูโรงเรียนชุมชนวัดใหญ่โพหัก (เสียชีวิตแล้วเมื่อ 18 ส.ค.2552)  ซึ่งเป็นลูกเกิดโพหัก ได้ย้ายมาสอนที่บ้านเกิด เห็นว่าศิลปวัฒนธรรมของโพหักมีมากมาย บางอย่างก็คงอยู่ และอีกหลายอย่างได้สูญหายไปแล้ว จึงคิดที่จะขุดค้นส่วนที่สูญหายให้กลับคืนมา ก็เริ่มศึกษาค้นคว้าจากญาติผู้ใหญ่ให้ท่านเล่าให้ฟัง แล้วเก็บข้อมูลไว้ ในปี 2543 อาจารย์มณฑิตย์สา มั่นฤกษ์ ได้ทำการขุดค้นอย่างจริงจัง โดยการเข้าถึงคนเฒ่าคนแก่ที่ยังพอจำเรื่องราวได้ ศึกษาหาข้อมูล และรวบรวมประวัติความเป็นมาทุกวันหลังเวลาราชการ พูดคุยกับชาวบ้านจนดึกดื่นทุกคืนที่ออกหาข้อมูล วันละ 2-3 บ้านต่อวัน ได้ข้อมูลและเนื้อเพลงรำโทนโพหัก แล้วนำมาฝึกร้องฝึกรำ

โดยเริ่มต้นจากกลุ่มผู้สูงอายุโพหัก ทำให้เพลงรำโทนโพหักได้กลับฟื้นคืนมา ในปี พ.ศ. 2543 และได้นำไปแสดงในงานเที่ยวราชบุรีปี 2001 เป็นครั้งแรก ได้รับการตอบรับจากผู้ชม นักท่องเที่ยวอย่างมากมาย เขาพูดกันว่าแปลกดีไม่เคยเห็น บางคนชอบเนื้อเพลงที่ร้องมาขอเอาไป สถาบันการศึกษาให้ความสนใจมากเข้ามาสอบถามความเป็นมาสำนักวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรีให้วิทยาลัยครูราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง มาถ่ายทำเป็น วีดีโอ

ต่อจากนั้นก็ได้นำไปเผยแพร่ในระดับมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่ง มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐมก็ส่งนักศึกษา สาขานาฎศิลป์มาเรียนรู้ รวมถึงสื่อมวลชนต่าง ๆ มาให้ความสนใจมาขอถ่ายทำเป็นสารคดีออกทางโทรทัศน์ทุกช่อง (ช่อง 3 ,5 ,7, 9, 11) และได้นำไปแสดงงานวัฒนธรรมของอำเภอ และจังหวัดราชบุรี รวมถึงจังหวัดใกล้เคียงตลอดมา

อาจารย์มณฑิตย์สา มั่นฤกษ์ ได้เริ่มขยายการฝึกร้องฝึกรำจากผู้สูงอายุมาถึงคนหนุ่มสาวและถึงเด็กประถมศึกษาในโรงเรียน รวมทั้งชาวบ้านทั้ง 11 หมู่บ้านในตำบลโพหัก อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี ฝึกรำโทนเป็นกันทั้งตำบล

งานเทศกาลเข้าพรรษาโพหักอนุรักษ์วิถีไทยพื้นถิ่นครั้งที่ 1
ในปี พ.ศ.2549 อาจารย์มณฑิตย์สา มั่นฤกษ์ ได้เป็นผู้ริเริ่มจัดงานฟื้นฟูและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยพื้นถิ่นขึ้น เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2549 โดยใช้ชื่องานว่า “เทศกาลเข้าพรรษาโพหักอนุรักษ์วิถีไทยพื้นถิ่น ครั้งที่ 1" โดยเชิญให้ท่านนายอำเภอบางแพ (นายเจน รัตนพิเชษฐ์ชัย) เป็นประธานจัดงาน และเชิญท่านผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี นายวงษ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์ เป็นประธานเปิดงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะเผยแพร่และอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของชนชาติพันธ์ไทยพื้นถิ่น(โพหัก) ซึ่งเป็นชนชาติพันธ์หนึ่งใน 8 ชนเผ่าของจังหวัดราชบุรี และเพื่อกระตุ้นปลุกจิตสำนึกให้คนโพหักรักและหวงแหนมรดกที่บรรพชนสร้างไว้ให้ รู้จักรักและหวงแหนและช่วยกันรักษาสืบต่อไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน และได้จัดงานเป็นประเพณีติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

กิจกรรมมีหลากหลายล้วนเป็นศิลปวัฒนธรรมไทยพื้นถิ่นทั้งสิ้น รวมถึงการจัดประกวดรำโทนโพหัก ตั้งแต่ผู้ใหญ่ และเด็ก ทั้ง 11 หมู่บ้านทุกปี จนทุกวันนี้มีความมั่นใจแล้วว่า “รำโทนโพหัก” ไม่มีวันสูญหายไปอีกแล้ว ผลของการจัดงานเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ท่านผู้ใหญ่ในจังหวัดให้การสนับสนุน โดยเฉพาะท่านผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี และท่านนายอำเภอบางแพ ท่านจัดหางบประมาณให้มาถึง 3 ปี สำนักงานกีท่องเที่ยวและนันทนาการจังหวัดราชบุรี ได้นำงานนี้ลงในปฏิทินการท่องเที่ยวแล้วในปี พ.ศ.2551

ลักษณะการแสดงรำโทนโพหัก
มีพ่อเพลง แม่เพลง เป็นผู้ร้องเพลงเชียร์ให้รำ มีเครื่องดนตรีประกอบจังหวะในการร้องการรำ คือ โทน ฉิ่ง ฉาบ กรับ ผู้แสดง ชาย – หญิง รำกันเป็นคู่ ๆ เดินรำเป็นวง (จะนิยมเดินวนซ้ายมือ) การแต่งกายของผู้แสดง แต่งกายตามพื้นบ้านสมัยนั้น คือ ชาย จะนุ่งโจงกระเบน ใส่เสื้อคอกลมผ่าหน้าหลากสี(ใช้ผ้าสี) หญิง จะนุ่งโจงกระเบน ใส่เสื้อคออ้อม(คล้ายเสื้อกระโปรง) ห่มทับด้วยผ้าสไบ (ดังภาพ)  

การแต่งกายของชายและหญิง ในการแสดงรำโทน

ลักษณะเด่นของรำโทนโพหัก
รำโทนโพหักจะมีลักษณะโดดเด่นทั้งเพลงที่ร้องและท่าทางการร่ายรำ เพลงที่ร้องจะมีเนื้อร้องและทำนองที่สนุกสนาน ปลุกอารมณ์ให้คึกครื้นชวนให้รำ ท่ารำก็ไม่เหมือนรำวงทั่วไป ตรงที่ผู้รำจะแสดงท่าทางตามเนื้อเพลง แสดงสีหน้าท่าทางให้สอดคล้องกับเนื้อเพลง โดยคู่ชาย–หญิง จะรำแบบเกี้ยวพาราสีกัน หยอกล้อกัน โดยแสดงออกทางสีหน้าท่าทางให้ผู้ชมเห็นได้ชัดเจน 

รูปแบบการแสดงรำโทนโพหัก
ก่อนการแสดงจะจัดทำเวที มีสายรุ้ง พวงมะโหด ตกแต่งเวทีให้สวยงาม ตรงกลางเวที จะนำครกไม้ตำข้าว (สมัยนั้น) มาวางเป็นจุดกลาง พ่อเพลงแม่เพลงและนักดนตรี นั่งเป็นกลุ่มอยู่ด้านหนึ่ง ฝ่ายชายจะเป็นผู้ไปโค้งฝ่ายหญิงรำเป็นคู่ๆ โดยเดินรำเป็นวงรอบครกตำข้าวใครพอใจสาวคนไหนก็จะหมายตาโค้งออกมารำ เริ่มแสดงตั้งแต่หัวค่ำจนใกล้รุ่ง ก่อนจะจบการแสดงจะมีการร้องเพลงเพื่อลากลับทุกครั้ง โดยใช้เพลงลาที

การแสดงรำโทนโพหัก

















****************************
อ่านต่อ : รวมเพลงรำโทนโพหัก 48 เพลง

ที่มาข้อมูลและภาพ
  • sin.(2552). รำโทนโพหัก อนุรักษ์วิถีไทยพื้นถิ่นโพหัก อ.บางแพ จ.ราชบุรี. [Online]. Available :http://romtonepohuak.blogspot.com/. [2555 เมษายน 8 ].
อ่านต่อ >>