วันเสาร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2552

รำผีมอญ


มูลเหตุของการรำผีมอญ เนื่องมาจากความเชื่อที่ว่า ชาวมอญมีผีรักษา หรือผีประจำตระกูล เรียกเป็นการทั่วไปว่า "ผีมอญ" ซึ่งผีนี้มีหน้าที่คอยปกปักรักษาให้สมาชิกในครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข แต่มีข้อแม้ว่า ห้ามล่วงละเมิดหรือ "ทำผิดผี" ด้วยประการทั้งปวง เช่น ห้ามคนตั้งครรภ์ที่มิใช่ลูกสาวของเจ้าของเรือนนอนในเรือน ห้ามคู่สามีภรรยาที่ไม่ได้อยู่ร่วมผีเดียวกันกับเจ้าของเรือน ร่วมหลับนอนในเรือน ห้ามเจ้าเรือนกินอาหารร่วมสำรับกับแขกที่มาเยือน ฯลฯ
การ "ผิดผี" จะส่งผลให้คนในบ้านเกิดเจ็บไข้ไม่สบาย เมื่อหมอดูทำนายว่าเป็นเพราะผีกระทำ ก็จะจัดหาวันเพื่อทำพิธีรำผีมอญ ซึ่งก็คือกระบวนการแสดงขอขมา หรือลุแก่โทษ ที่ได้กระทำล่วงเกินผีนั่นเอง
ชาวมอญราชบุรี ไม่ทำพิธีรำผีมอญบ่อยครั้งนัก หากเลี่ยงได้ก็จะเลี่ยง เนื่องจากการจัดรำผีมอญแต่ละครั้งใช้เงินค่อนข้างมาก อีกประการหนึ่ง เป็นการประกาศว่า บ้านเรือนหลังนี้ ได้มีผู้ทำผิดผี จึงได้เกิดการรำผีมอญขึ้น
ดังนั้น วิธีเลี่ยงที่ดีและง่าย คือ การปฏิบัติกิจของคนภายในครอบครัวมิให้ผิดผี ซึ่งก็เท่ากับเป็นการคุมพฤติกรรมให้อยู่ในกรอบของความเหมาะควร เมื่อทุกคนเคารพในการถือผีของกันและกัน ก็คือเคารพหลักในการอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน การนับถือผีมอญจึงไม้ไร้เหตุผล














ที่มาข้อมูล
วีระพงศ์ มีสถาน. (2550). รำผีมอญ. คนราชบุรี.ราชบุรี.สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี. (141).

ที่มาของภาพ http://www.openbase.in.th/files/monstudies-pic045_md.jpg
ข้อมูลเพิ่มเติม
http://www.monstudies.com/thaismf112/index.php?topic=631.0
อ่านต่อ >>

ปฏิทินประเพณี-พิธีกรรม ของคน 8 ชาติพันธ์ราชบุรี


1.กะเหรี่ยงราชบุรี
  • เวียนเจดีย์ --> แรม 14 ค่ำ เดือน 5
  • เหยียบหลังกะเหรี่ยง --> ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5
  • ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน (ไหว้ต้นไม้) --> เดือน 6 (จันทรคติ)
  • ผูกแขนเรียกขวัญ (กินข้าวห่อ) -->เดือน 9 (จันทรคติ)

2.เขมรราชบุรี

  • เทศกาลทำข้าวหลาม --> เดือน 3
  • ตรุษไทย --> เดือน 4
  • เทศกาลสงกรานต์ --> เดือน 5
  • สาร์ทไทย --> เดือน 10

3.จีนราชบุรี

  • ตรุษจีน --> เดือนกุมภาพันธ์
  • เช็งเม้ง --> 1-5 เมษายน
  • เทศกาลขนมจ้าง --> ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 (ปฏิทินจีน หรือประมาณเดือนมิถุนายน)
  • สาร์ทจีน --> ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 (ปฏิทินจีน หรือประมาณเดือนสิงหาคม)
  • ไหว้พระจันทร์ --> ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 (ปฏิทินจีน หรือประมาณเดือนกันยายน)
  • กินเจ --> ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 (ปฏิทินจีน หรือประมาณเดือนตุลาคม)
  • เทศกาลขนมบัวลอย --> เดือน 12 (ปฎิทินจีน หรือประมาณเดือนธันวาคม)

4.ไทยพื้นถิ่นราชบุรี

  • ตรุษไทย/ตักบาตรอาหารสัมรวม --> แรม 15 ค่ำ เดือน 4
  • สงกรานต์/แห่พ่อปู่โพหัก --> 13-15 เมษายน
  • ตักบาตรดอกไม้ธูปเทียน/ตักบาตรสัมรวม --> วันเข้าพรรษา
  • ตักบาตรข้าวบิณฑ์ --> แรม 15 ค่ำ เดือน 10
  • ประเพณีแข่งเรือยาว --> แรม 7 ค่ำ เดือน 11

5.ไทยยวนราชบุรี

  • ประเพณีปอยขันโตกไทยยวน --> เดือนเมษายน
  • สงกรานต์ไทยยวน --> 13-15 เมษายน
  • สาร์ทไทย --> เดือน 10
  • เทศน์มหาชาติ --> วันออกพรรษา

6.มอญราชบุรี

  • สงกรานต์มอญ-ข้าวแช่ แห่ปลา --> 13-16 เมษายน
  • จองโอฮต่าน --> วันมาฆบูชา
  • รำผีมอญ (ขอขมา) --> เดือน 6 ยกเว้นวันพระ
  • เลี้ยงผีมอญ --> เดือน 6 ข้างขึ้น
  • แห่นาค --> ช่วงเทศกาลบวชนาค

7.ลาวเวียงราชบุรี

  • บุญข้าวจี่ --> ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3
  • แห่ดอกไม้ --> 15-17 เมษายน
  • ตักบาตรดอกไม้ --> วันเข้าพรรษา
  • สาร์ทลาว (แก้ห่อข้าว) --> ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10
  • บุญไต้น้ำมัน --> วันออกพรรษา

8.โส้งราชบุรี

  • เสนเฮือน --> เดือน 2,4,6 และ 12
  • อิ้นกอน (เล่นคอน-โยนลูกช่วง) --> 1 ค่ำ เดือน 5-6
  • งานสงกรานต์ (มีการละเล่นแทรกอยู่ในเทศกาล) --> เดือน 5 เทศกาลสงกรานต์

ที่มาข้อมูล
วีระพงศ์ มีสถาน. (2550). ปฏิทินงานประเพณี-พิธีกรรม ของกลุ่มวัฒนธรรมราชบุรี. คนราชบุรี. ราชบุรี : สำนักวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี. (216-217)

ที่มาของภาพ
http://www.damnoensaduak.go.th/images/location/location-11-big.jpg
อ่านต่อ >>

กะเหรี่ยงตีผึ้ง

ที่ อ.สวนผึ้ง มีชุมชนกะเหรี่ยงอยู่ค่อนข้างหนาแน่น เมื่อเปรียบเทียบกับ อำเภออื่นๆ ของ จ.ราชบุรี และมีต้นไม้ชนิดหนึ่งที่คล้ายกับชื่อของอำเภอสวนผึ้ง ชาวบ้านเรียกทั่วไปว่า "ต้นผึ้ง" จึงอาจเป็นไปได้ว่า การเรียกต้นผึ้งนี้ เรียกตามสภาพที่ผึ้งมาสร้างรัง

การจะได้น้ำผึ้งมารับประทาน หรือนำน้ำผึ้งแลกไปเปลี่ยนสิ่งของกับผู้คนถิ่นอื่นๆ ชาวกะเหรี่ยงราชบุรีมีภูมิปัญญาเก็บเอาน้ำผึ้งอยู่บนคาคบไม้ที่สูงขนาดแหงนคอตั้งบ่าได้อย่างชาญฉลาด ประกอบกับความเด็ดเดี่ยวใจกล้า ระคนกับความที่มีจิตนอบน้อมในธรรมชาติ ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงการตีผึ้ง จึงต้องนึกถึงชาวกะเหรี่ยงเป็นลำดับต้นๆ
เมื่อหมายตาว่าจะเก็บน้ำผึ้งที่ทำรังบนกิ่งไม้จากต้นใด หมอผึ้งหรือผู้นำในการตีผึ้ง จะนำพรรคพวกไปตอกทอยเตรียมไว้ในช่วงเย็น หากบริเวณโคนต้นไม้มีเถาวัลย์หรือพงหนาม จะต้องถางให้เป็นเวิ้งพอที่จะเข้าหรือออกได้สะดวก
ก่อจะเริ่มตอกทอย ผู้ตอกจะนั่งยอง ประนมมือกล่าวขอขมาแม่นางไม้ที่ตนต้องตอกทอยลงไป และขอให้แม่นางไม้หนุนนำให้การตอกทอยสำเร็จด้วยดี
ผู้ตอกทอยจะเตรียมทอย (ถ่าเล่) ใส่ยามสะพายขึ้นไปพร้อมกับค้อนตอกทอย (จะคึ่ง) การตอกทอยดอกแรก จะตอกตั้งแต่ระดับที่ขาก้าวจากพื้นดินได้พอดี แล้วตอกสูงขึ้นหากจากระยะเดิมสูงประมาณศอดเศษขึ้นไปเรื่อยๆ จนใกล้กับรังผึ้ง
วิธีการตอกทอย ใช้มือข้างหนึ่งจับทอยระดับไหล่เอาไว้ ส่วนมืออีกข้างล้วงทอยในย่าม กำให้แน่นแล้วกระแทกให้ฝังลงไปในเปลือกไม้ พอที่ทอยจะตรึงอยู่ได้ ต่อจากนั้นมือข้างเดิมจึงหยิบค้อนแล้วตีทอย 2-4 ครั้ง เพื่อให้ทอยฝังลึกลงตรึงแน่น พอเพียงที่จะรับน้ำหนักคนได้ ทำเช่นนี้เรื่อยๆ ไป
มีการสอนย้ำอย่างหนักแน่นว่า ห้ามมิให้ใช้ทอยเดิมที่เคยมีผู้ตอกไว้แล้ว เพราะความแข็งแรงทนทานของทอยจะคาดคะเนด้วยตาไม่ได้ จึงต้องใช้ค้อนต่อยให้หัก แล้วให้ตอกทอยดอกใหม่ในบริเวณและระยะที่เหมาะสม ห้ามตอกซ้ำรอยเดิม
ข้อปฏิบัติอีกหลายประการที่มิได้ตราไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ได้บอกสอนกันมาว่า ห้ามตีผึ้งในวันพระและในรอบหนึ่งปี มีฤดูตีผึ้งได้ 2 เดือน คือ เดือน 5 เป็นช่วงที่น้ำผึ้งมีรสหวานเป็นพิเศษ และจะตีอีกครั้งในเดือน 9 ซึ่งการมีข้อปฏิบัติและระยะเวลาตีผึ้งเช่นนี้ ทำให้ผึ้งได้มีโอกาสได้ขยายพันธุ์
ขั้นตอนการเก็บน้ำผึ้ง
หลังตอกทอยไว้ตอนเย็น ต้องรอให้ฟ้ามืดสนิทประมาณ 1 ทุ่ม ถ้าเป็นวันข้างขึ้นเดือนหงายจะต้องรอเวลาให้เดือนตก แต่โดยธรรมเนียมปฏิบัติแล้ว ชาวกะเหรี่ยงไม่นิยมตีผึ้งในเวลาค้างขึ้น แต่เลือกเอาวันข้างแรม เมื่อดวงอาทิตย์ตกไม่นาน ท้องฟ้าก็จะมืด เพราะต้องตีผึ้งในเวลาฟ้ามืดเท่านั้น ก่อนปีนต้นไม้ หมอผึ้งไหว้สักการะแม่นางไม้อีกครั้งหนึ่ง ว่าจะไปขอเก็บน้ำผึ้งข้างบน ขอแม่นางไม้ได้โปรดค้ำชู อย่าให้พลัดตกลงมา
หมอผึ้งใช้เชือก (เถาวัลย์หรือหวายก็ได้) ผูกปี๊บแล้วสะพายปี๊บไว้ที่บ่าข้างใดข้างหนึ่ง หรือถือปลายเชือกอีกข้างหนึ่ง แล้วเหยียบทอยไต่ขึ้นไป พร้อมกับฟ่อนคบเพลิงที่เตรียมไหว้ เมื่อไปใกล้รังผึ้ง หมอผึ้งจะจุดคบเพลิงซึ่งมัดเป็นฟ่อนเหมือนไม้กวาดทางมะพร้าว แต่มัดหลายเปลาะ ปล่อยให้ส่วนปลายบานชี้กางออก
คบเพลิงนี้ ทำจากกาบมะพร้าวแห้ง หรือเถารางจืดหรือเถาหมูป่าก็ได้ เพราะมีคุณสมบัติไม่ติดไฟเป็นเปลวเพลิง แต่ติดไฟคุแดงคล้ายไฟปลายธูป ส่วนที่ติดไฟแดงนี้เปราะ เมื่อถูกกระแทกหรือกระเทือนก็จะหักโดยง่าย แต่เศษไฟที่เหลือก็จะลามปลายไม้เข้ามาใหม่เรื่อยๆ ด้วยภูมิรู้นี้เอง ชาวกะเหรี่ยงจึงนำไม้ดังกล่าว มาทำคบเพลิงตีผึ้ง
หมอผึ้งใช้ด้านข้างของฟ่อนคบเพลิงกวาดที่รังผึ้ง ซึ่งมีผึ้งจับหุ้มโดยรอบ ทำให้ปลายของซี่คบเพลิงที่ติดไฟแดง แต่ละซี่นั้นหัก และร่วงกราวลงเบื้องล่าง บรรดาผึ้งเมื่อเห็นแสงไฟ ก็จะบินตามสะเก็ดไฟไปทันที หมอผึ้งกวาดรังผึ้งครั้งใด ปลายคบเพลิงก็จะหักและร่วงพลูลงทุกครั้ง ผึ้งที่เหลืออยู่ก็จะบินตามไฟลงไปทุกครั้งเช่นกัน เมื่อผึ้งเกือบทั้งหมดบินไปตามแสงไฟ จึงเหลือเพียงรังผึ้งและหัวน้ำหวาน หมอผึ้งรวบใส่ปี๊บที่เตรียมไว้อย่างรวดเร็ว ขั้นตอนนี้หมอผึ้งมีโอกาสถูกผึ้งต่อยได้ง่าย หมอผึ้งบางคนถูกผึ้งต่อยจนตัวชาหรือตกต้นไม้จนเสียชีวิตก็มี
อนึ่ง ขณะที่ไต่ขึ้นไปเก็บน้ำหวาน หมอผึ้งจะร้องเพลงกะเหรี่ยง เชื่อว่าเป็นการกล่อมแม่นางไม้ให้เคลิบเคลิ้ม ไม่ทำอันตราย หรือผลักให้ตกต้นไม้
ความรู้อีกอย่างหนึ่ง คือ ถ้ามีผึ้งหลายรังที่ต้นไม้เดียวกัน จะเลือกตัผึ้งจากรังบนก่อน เพราะขณะที่ตีรังบนสะเก็ดไฟจากคบเพลิงจะร่วงลงมา ผึ้งที่อยู่รังล่างจะบินตามไฟไปด้วยเช่นกัน ทำให้ทุ่นเวลาในการกวาดเขี่ยผึ้งรังที่อยู่เบื้องล่าง
นอกจากนี้ ชาวกะเหรี่ยงสอนกันไว้ว่า ขณะที่ตีผึ้ง ห้ามพรรคพวกที่อยู่ข้างล่างก่อไฟ ฉายไฟ แม้กระทั่งสูบบุหรี่ เพราะแสงไฟในยามมืด จะเป็นช่องทางให้ผึ้งบินไปหาและต่อยคนใกล้ต้นกำเนิดไฟได้ ยิ่งถ้าเป็นกองไฟที่เป็นเปลวเพลิง ผึ้งจะบินเข้ากองไฟและตายในทันที



ที่มาบทความ
วีระพงศ์ มีสถาน. (2550). กระเหรี่ยงตีผึ้ง. คนราชบุรี. ราชบุรี : สำนักงานวัฒนธรรม จ.ราชบุรี, 25-28
ที่มาของภาพ
ต้นไม้
http://www.trekkingthai.com/webboard/trip/7390-89.jpg
ตอกทอย
http://www.trekkingthai.com/webboard/trip/7390-70.jpg
ทอย
http://www.trekkingthai.com/webboard/trip/3846-20.jpg
จุดไฟ
http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/622/622/images/HoneyComp/05.jpg
อ่านต่อ >>

วันพฤหัสบดีที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ถิ่นอาศัยของคน 8 ชาติพันธ์ราชบุรี

ชาวไทยที่เป็นประชากรของราชบุรีตามกลุ่มวัฒนธรรมต่างๆ มีอยู่เป็นหย่อมย่าน ถ้ามีการรวมกลุ่มกันอย่างหนาแน่น ทำให้เกิดการแสดงออกทางประเพณี วัฒนธรรม และความเชื่อ ถ้าชุมชนที่มีกลุ่มคนตามวัฒนธรรมนั้นอยู่เบาบาง ก็ไม่สามารถแสดงออกทางวัฒนธรรมได้อย่างเต็มที่ บางครั้งก็ถูกกลุ่มวัฒนธรรมหลักชักนำหรือถูกกลืนกลายให้เสื่อมสูญไปจากสังคมก็มี ข้อมูลต่อไปนี้แสดงถึงพื้นที่อยู่อาศัยของผู้คนตามวัฒนธรรมต่างๆ

1.ไทยพื้นถิ่นราชบุรี
  • วัดใหญ่โพหัก วัดบางแพใต้ ต.โพหัก อ.บางแพ
  • วัดหลวง ต.วังเย็น อ.บางแพ
  • บ้านหนองเกสร บ้านเวียงทุน บ้านหัวดอน บ้านบางนางสูญ ต.วัดเพลง อ.วัดเพลง
  • บ้านปลายคลองเล็ก บ้านดอกกลาง บ้านบางกล้วย บ้านบางกระดี่ บ้านตาสน บ้านปากสระ ต.จอมประทัด อ.วัดเพลง

2.จีนราชบุรี

  • ตลาดเทศบาลเมืองบ้านโป่ง ต.บ้านโป่ง อ.บ้านโป่ง
  • ตลาดห้วยกระบอก ต.กรับใหญ่ อ.บ้านโป่ง
  • ตลาดเทศบาลเมืองราชบุรี ต.หน้าเมือง อ.เมือง
  • ตลาดเทศบาลเมืองโพธาราม ต.โพธาราม อ.โพธาราม

3.ไทยยวนราชบุรี

  • บ้านระหนอง บ้านหนองขัน บ้านใต้ บ้านตะโก บ้านต้นแหน บ้านโพธิ์งาม บ้านใหม่ บ้านหัวนา วัดแคทราย ต.คูบัว อ.เมือง
  • บ้านห้วยไผ่ บ้านนครบาล ต.ห้วยไผ่ อ.เมือง
  • วัดใหญ่อ่างทอง ต.อ่างทอง อ.เมือง
  • บ้านเจดีย์หัก วัดเจติยาราม ต.เจดีย์หัก อ.เมือง
  • วัดห้วยปลาดุก ต.หินกอง อ.เมือง
  • บ้านดอนแร่ บ้านนาหนอง บ้านชาด บ้านดอนตัน บ้านห้วย บ้านดอนกอก บ้านหนองสระ บ้านหนองโป่ง บ้านหนองมะตูม ต.ดอนแร่ อ.เมือง
  • บ้านบางกระโด วัดบางกระโด วัดหนองโพ ต.หนองโพ อ.โพธาราม
  • วัดหนองปลาหมอ ต.หนองปลาหมอ อ.บ้านโป่ง
  • วัดชมภูพล บ้านบ่อเจ๊ก ต.หนองอ้อ อ.บ้านโป่ง
  • วัดบ้านหลวง ต.วัดแก้ว อ.บางแพ
  • วัดหนองโก วัดนาคอก ต.อ่างหิน อ.ปากท่อ
  • บ้านพุคาย บ้านพุพลับ ต.ทุ่งหลวง อ.ปากท่อ
  • วัดหนองบัว ต.บ่อกระดาน อ.ปากท่อ
  • บ้านรางอาว บ้านทุ่งกว้าง บ้านชัฎใหญ่ บ้านหนองนกกระเรียน ต.รางบัว อ.จอมบึง
  • บ้านหนองกลางเนิน บ้านนาไร่เดียว บ้านชัฎหนองหมี บ้านชัฎป่าหวาย ต.บ้านบ่อ อ.สวนผึ้ง
  • บ้านหนองขาม บ้านทุ่งแหลม บ้านนาขุนแสน ต.ท่าเคย อ.สวนผึ้ง

4.มอญราชบุรี

  • วัดตาลปากลัด วัดโพธิ์โสภาราม วัดมะขาม ต.คุ้งพยอม อ.บ้านโป่ง
  • วัดม่วง วัดบัวงาม ต.บ้านม่วง อ.บ้านโป่ง
  • วัดหัวหิน วัดใหญ่นครชุมน์ วัดตาผา ต.นครชุมน์ อ.บ้านโป่ง
  • วัดบ้านหมอ วัดป่าไผ่ วัดคงคาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม
  • วัดไทรอารีรักษ์ ต.โพธาราม อ.โพธาราม
  • วัดม่วงราษฎร์ศรัทธาราม วัดเกาะ วัดขนอน วัดสร้อยฟ้า ต.สร้อยฟ้า อ.โพธาราม
  • ชุมชนมอญดอนกระเบื้อง ต.ดอนกระเบื้อง อ.โพธาราม

5.เขมรราชบุรี

  • บ้านรากมะขาม บ้านเขาน้อย บ้านห้วยหมู ต.ห้วยไผ่ อ.เมือง
  • บ้านเด่นกระต่าย ต.หน้าเมือง อ.เมือง
  • บ้านคุ้งกระถิน ต.คุ้งกระถิน อ.เมือง
  • บ้านคุ้งน้ำวน ต.คุ้งน้ำวน อ.เมือง
  • บ้านพงสวาย บ้านคลองแค ต.พงสวาย อ.เมือง
  • บ้านก่อไผ่(หมู่ 3) ต.ยางงาม อ.ปากท่อ
  • บ้านหนองจอก ต.ดอนทราย อ.ปากท่อ
  • บ้านหัวถนน บ้านบ่อตะคร้อ วัดยางงาม ต.บ่อกระดาน อ.ปากท่อ
  • วัดโคกพระ ต.ปากท่อ อ.ปากท่อ
  • บ้านหนองกระทุ่ม ต.หนองกระทุ่ม อ.ปากท่อ
  • บ้านคลองขนอน บ้านคลองพะเนาว์ บ้านโคกพริก ต.เกาะศาลพระ อ.วัดเพลง
  • บ้านบางนางสูญ วัดศรัทธาราษฎร์ ต.วัดเพลง อ.วัดเพลง
  • บ้านดอนมะขามเทศ ต.หัวโพ อ.บางแพ
  • บ้านเตาอิฐ บ้านหนองม่วง ต.วังเย็น อ.บางแพง
  • บ้านเสาธง บ้านทำนบ ต.วัดแก้ว อ.บางแพ
  • บ้านท่าราบ ต.บางแพ อ.บางแพ
  • บ้านสมถะ ต.บางโตนด อ.โพธาราม
  • บ้านสนามชัย ต.เจ็ดเสมียน อ.โพธาราม

6.ลาวเวียงราชบุรี

  • วัดโสดาประดิษฐาราม ต.เขาแร้ง อ.เมือง
  • บ้านบ่อมะกรูด(บ้านช่าง) บ้านเก่า บ้านฆ้อง ต.บ้านฆ้อง อ.โพธาราม
  • บ้านสิงห์ บ้านกำแพงเหนือ บ้านกำแพงใต้ บ้านน้ำหัก ต.บ้านสิงห์ อ.โพธาราม
  • บ้านเลือก วัดโบสถ์ บ้านดอนกลาง บ้านหนองรี บ้านหนองเต่าดำ บ้านเตาเหล็ก บ้านขนุน บ้านหุบกล่ำ ต.บ้านเลือก อ.โพธาราม
  • บ้านบางลาน บ้านดอนทราย ต.ดอนทราย อ.โพธาราม
  • บ้านกรับใหญ่ บ้านอ้ออีเขียว บ้านหนองประทุน บ้านหนองประทุน บ้านหนองกลางด่าน บ้านหนองโรง บ้านรางพลับ ต.กรับใหญ่ อ.บ้านโป่ง
  • บ้านหนองปลาดุก ต.หนองกบ อ.บ้านโป่ง
  • วัดปลักแรด ต.ปากแรด อ.บ้านโป่ง
  • บ้านหนองอ้อ ต.หนองอ้อ อ.บ้านโป่ง
  • บ้านดอนเสลา บ้านฆ้องน้อย ต.ท่าผา อ.บ้านโป่ง
  • บ้านเขาแร้ง บ้านเกาะ ต.จอมบึง อ.จอมบึง
  • บ้านนาสมอ ต.ปากช่อง อ.จอมบึง

7.กะเหรี่ยงราชบุรี

  • บ้านบ่อ ต.สวนผึ้ง อ.สวนผึ้ง
  • บ้านบ่อหวี ต.ตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง
  • บ้านคา ต.บ้านคา อ.บ้านค่า
  • บ้านโป่งกระทิงบน ต.บ้านบึง อ.บ้านคา
  • บ้านท่ายาง บ้านแม่ประจัน บ้านไทรงาม ต.ยางหัก อ.ปากท่อ

8.โส้งราชบุรี

  • บ้านตลาดควาย ต.จอมบึง อ.จอมบึง
  • บ้านดอนคลัง บ้านโคกตับเป็ด ต.ดอนคลัง อ.ดำเนินสะดวก
  • บ้านบัวงาม ต.บัวงาม อ.ดำเนินสะดวก
  • บ้านดอนคา บ้านตากแดด บ้านดอนพรม ต.ดอนคา อ.บางแพ
  • บ้านหัวเขาจีน ต.ห้วยยางโทน อ.ปากท่อ

ปรับปรุงจาก : สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี. (2550). คนราชบุรี. ราชบุรี : ธรรมรักษ์การพิมพ์.(หน้า 211-215)


อ่านต่อ >>