วันเสาร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2552

กะเหรี่ยงตีผึ้ง

ที่ อ.สวนผึ้ง มีชุมชนกะเหรี่ยงอยู่ค่อนข้างหนาแน่น เมื่อเปรียบเทียบกับ อำเภออื่นๆ ของ จ.ราชบุรี และมีต้นไม้ชนิดหนึ่งที่คล้ายกับชื่อของอำเภอสวนผึ้ง ชาวบ้านเรียกทั่วไปว่า "ต้นผึ้ง" จึงอาจเป็นไปได้ว่า การเรียกต้นผึ้งนี้ เรียกตามสภาพที่ผึ้งมาสร้างรัง

การจะได้น้ำผึ้งมารับประทาน หรือนำน้ำผึ้งแลกไปเปลี่ยนสิ่งของกับผู้คนถิ่นอื่นๆ ชาวกะเหรี่ยงราชบุรีมีภูมิปัญญาเก็บเอาน้ำผึ้งอยู่บนคาคบไม้ที่สูงขนาดแหงนคอตั้งบ่าได้อย่างชาญฉลาด ประกอบกับความเด็ดเดี่ยวใจกล้า ระคนกับความที่มีจิตนอบน้อมในธรรมชาติ ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงการตีผึ้ง จึงต้องนึกถึงชาวกะเหรี่ยงเป็นลำดับต้นๆ
เมื่อหมายตาว่าจะเก็บน้ำผึ้งที่ทำรังบนกิ่งไม้จากต้นใด หมอผึ้งหรือผู้นำในการตีผึ้ง จะนำพรรคพวกไปตอกทอยเตรียมไว้ในช่วงเย็น หากบริเวณโคนต้นไม้มีเถาวัลย์หรือพงหนาม จะต้องถางให้เป็นเวิ้งพอที่จะเข้าหรือออกได้สะดวก
ก่อจะเริ่มตอกทอย ผู้ตอกจะนั่งยอง ประนมมือกล่าวขอขมาแม่นางไม้ที่ตนต้องตอกทอยลงไป และขอให้แม่นางไม้หนุนนำให้การตอกทอยสำเร็จด้วยดี
ผู้ตอกทอยจะเตรียมทอย (ถ่าเล่) ใส่ยามสะพายขึ้นไปพร้อมกับค้อนตอกทอย (จะคึ่ง) การตอกทอยดอกแรก จะตอกตั้งแต่ระดับที่ขาก้าวจากพื้นดินได้พอดี แล้วตอกสูงขึ้นหากจากระยะเดิมสูงประมาณศอดเศษขึ้นไปเรื่อยๆ จนใกล้กับรังผึ้ง
วิธีการตอกทอย ใช้มือข้างหนึ่งจับทอยระดับไหล่เอาไว้ ส่วนมืออีกข้างล้วงทอยในย่าม กำให้แน่นแล้วกระแทกให้ฝังลงไปในเปลือกไม้ พอที่ทอยจะตรึงอยู่ได้ ต่อจากนั้นมือข้างเดิมจึงหยิบค้อนแล้วตีทอย 2-4 ครั้ง เพื่อให้ทอยฝังลึกลงตรึงแน่น พอเพียงที่จะรับน้ำหนักคนได้ ทำเช่นนี้เรื่อยๆ ไป
มีการสอนย้ำอย่างหนักแน่นว่า ห้ามมิให้ใช้ทอยเดิมที่เคยมีผู้ตอกไว้แล้ว เพราะความแข็งแรงทนทานของทอยจะคาดคะเนด้วยตาไม่ได้ จึงต้องใช้ค้อนต่อยให้หัก แล้วให้ตอกทอยดอกใหม่ในบริเวณและระยะที่เหมาะสม ห้ามตอกซ้ำรอยเดิม
ข้อปฏิบัติอีกหลายประการที่มิได้ตราไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ได้บอกสอนกันมาว่า ห้ามตีผึ้งในวันพระและในรอบหนึ่งปี มีฤดูตีผึ้งได้ 2 เดือน คือ เดือน 5 เป็นช่วงที่น้ำผึ้งมีรสหวานเป็นพิเศษ และจะตีอีกครั้งในเดือน 9 ซึ่งการมีข้อปฏิบัติและระยะเวลาตีผึ้งเช่นนี้ ทำให้ผึ้งได้มีโอกาสได้ขยายพันธุ์
ขั้นตอนการเก็บน้ำผึ้ง
หลังตอกทอยไว้ตอนเย็น ต้องรอให้ฟ้ามืดสนิทประมาณ 1 ทุ่ม ถ้าเป็นวันข้างขึ้นเดือนหงายจะต้องรอเวลาให้เดือนตก แต่โดยธรรมเนียมปฏิบัติแล้ว ชาวกะเหรี่ยงไม่นิยมตีผึ้งในเวลาค้างขึ้น แต่เลือกเอาวันข้างแรม เมื่อดวงอาทิตย์ตกไม่นาน ท้องฟ้าก็จะมืด เพราะต้องตีผึ้งในเวลาฟ้ามืดเท่านั้น ก่อนปีนต้นไม้ หมอผึ้งไหว้สักการะแม่นางไม้อีกครั้งหนึ่ง ว่าจะไปขอเก็บน้ำผึ้งข้างบน ขอแม่นางไม้ได้โปรดค้ำชู อย่าให้พลัดตกลงมา
หมอผึ้งใช้เชือก (เถาวัลย์หรือหวายก็ได้) ผูกปี๊บแล้วสะพายปี๊บไว้ที่บ่าข้างใดข้างหนึ่ง หรือถือปลายเชือกอีกข้างหนึ่ง แล้วเหยียบทอยไต่ขึ้นไป พร้อมกับฟ่อนคบเพลิงที่เตรียมไหว้ เมื่อไปใกล้รังผึ้ง หมอผึ้งจะจุดคบเพลิงซึ่งมัดเป็นฟ่อนเหมือนไม้กวาดทางมะพร้าว แต่มัดหลายเปลาะ ปล่อยให้ส่วนปลายบานชี้กางออก
คบเพลิงนี้ ทำจากกาบมะพร้าวแห้ง หรือเถารางจืดหรือเถาหมูป่าก็ได้ เพราะมีคุณสมบัติไม่ติดไฟเป็นเปลวเพลิง แต่ติดไฟคุแดงคล้ายไฟปลายธูป ส่วนที่ติดไฟแดงนี้เปราะ เมื่อถูกกระแทกหรือกระเทือนก็จะหักโดยง่าย แต่เศษไฟที่เหลือก็จะลามปลายไม้เข้ามาใหม่เรื่อยๆ ด้วยภูมิรู้นี้เอง ชาวกะเหรี่ยงจึงนำไม้ดังกล่าว มาทำคบเพลิงตีผึ้ง
หมอผึ้งใช้ด้านข้างของฟ่อนคบเพลิงกวาดที่รังผึ้ง ซึ่งมีผึ้งจับหุ้มโดยรอบ ทำให้ปลายของซี่คบเพลิงที่ติดไฟแดง แต่ละซี่นั้นหัก และร่วงกราวลงเบื้องล่าง บรรดาผึ้งเมื่อเห็นแสงไฟ ก็จะบินตามสะเก็ดไฟไปทันที หมอผึ้งกวาดรังผึ้งครั้งใด ปลายคบเพลิงก็จะหักและร่วงพลูลงทุกครั้ง ผึ้งที่เหลืออยู่ก็จะบินตามไฟลงไปทุกครั้งเช่นกัน เมื่อผึ้งเกือบทั้งหมดบินไปตามแสงไฟ จึงเหลือเพียงรังผึ้งและหัวน้ำหวาน หมอผึ้งรวบใส่ปี๊บที่เตรียมไว้อย่างรวดเร็ว ขั้นตอนนี้หมอผึ้งมีโอกาสถูกผึ้งต่อยได้ง่าย หมอผึ้งบางคนถูกผึ้งต่อยจนตัวชาหรือตกต้นไม้จนเสียชีวิตก็มี
อนึ่ง ขณะที่ไต่ขึ้นไปเก็บน้ำหวาน หมอผึ้งจะร้องเพลงกะเหรี่ยง เชื่อว่าเป็นการกล่อมแม่นางไม้ให้เคลิบเคลิ้ม ไม่ทำอันตราย หรือผลักให้ตกต้นไม้
ความรู้อีกอย่างหนึ่ง คือ ถ้ามีผึ้งหลายรังที่ต้นไม้เดียวกัน จะเลือกตัผึ้งจากรังบนก่อน เพราะขณะที่ตีรังบนสะเก็ดไฟจากคบเพลิงจะร่วงลงมา ผึ้งที่อยู่รังล่างจะบินตามไฟไปด้วยเช่นกัน ทำให้ทุ่นเวลาในการกวาดเขี่ยผึ้งรังที่อยู่เบื้องล่าง
นอกจากนี้ ชาวกะเหรี่ยงสอนกันไว้ว่า ขณะที่ตีผึ้ง ห้ามพรรคพวกที่อยู่ข้างล่างก่อไฟ ฉายไฟ แม้กระทั่งสูบบุหรี่ เพราะแสงไฟในยามมืด จะเป็นช่องทางให้ผึ้งบินไปหาและต่อยคนใกล้ต้นกำเนิดไฟได้ ยิ่งถ้าเป็นกองไฟที่เป็นเปลวเพลิง ผึ้งจะบินเข้ากองไฟและตายในทันที



ที่มาบทความ
วีระพงศ์ มีสถาน. (2550). กระเหรี่ยงตีผึ้ง. คนราชบุรี. ราชบุรี : สำนักงานวัฒนธรรม จ.ราชบุรี, 25-28
ที่มาของภาพ
ต้นไม้
http://www.trekkingthai.com/webboard/trip/7390-89.jpg
ตอกทอย
http://www.trekkingthai.com/webboard/trip/7390-70.jpg
ทอย
http://www.trekkingthai.com/webboard/trip/3846-20.jpg
จุดไฟ
http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/622/622/images/HoneyComp/05.jpg

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณครับสำหรับข้อมูลดีๆแบบนี้