วันอังคารที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ทรงผมของผู้หญิงชาวไทยทรงดำ

ไพรัช บัวบังใบ เลขาธิการสภาวัฒนธรรมอำเถอปากท่อ ได้เขียนถึงการไว้ทรงผมของหญิงไทยทรงดำ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์การแต่งทรงผมแบบต่างๆ ตามวัย ดังนี้
  1. ทรงเอื้อมไหล่ หรือเอื้อมไร เป็นการไว้ผมทรงแรกของเด็กหญิงเริ่มอายุประมาณ 13-14 ปี
  2. ทรงสับปิ้น (สับปลิ้น สับปิ่น) แบบผมสำหรับเด็กผู้หญิง อายุ 14-15 ปี ไว้ผมยาวแล้วตลบปลายผมสับหวีไว้ท้ายทอย ด้านข้างทั้งสองแผ่ออกคล้ายพัด กลัดด้วยกิ๊บ
  3. ทรงสับปิ่น
  4. ทรงจุกผม แบบผมของเด็กหญิง อายุ 14-15 ปี แบบเดียวกับสับปิ้น แต่ทำผมเป็นกระบังหน้าไว้ ข้างหลังเอาไว้เปีย
  5. ทรงขอดกระตอก แบบผมสาวรุ่นอายุ 16-17 ปี ไว้ผมยาว ขมวดผมแล้วผูกผมแบบเงื่อนตาย เอาชายผมไว้ข้างขวาของศีรษะ
  6. ทรงขอดกระตอก
  7. ทรงขอดซอย แบบผมหญิงสาว อายุ 17-18 ปี ไว้ผมยาว ขมวดผมแล้วผูกผมแบบเงื่อนตาย แต่เอาชายไว้ด้านซ้ายทำเป็นโบว์ 2 ข้าง เสียบผมให้อยู่ทรงด้วยปิ่นหรือไม้ขัดเกล้า
  8. ทรงขอดซอย
  9. ทรงปั้นเกล้าซอย แบบผมของหญิงสาวอายุ 19-20 ปี ไว้ผมยาว ผูกผมเหมือนผูกเนคไทหูกระต่าย ชายผมออกมาทางขวาของศีรษะ เสียบผมด้วยไม้ขัดเกล้า
  10. ทรงปั้นเกล้าซอย
  11. ทรงปั้นเกล้าต่วง หรือปั้นเกล้าถ้วน แบบผมหญิงสาวอายุ 20 ปีขึ้นไป ไว้ผมทรงนี้เรื่อยไปจนตาย ต้องไว้ผมยาวมาก บางคนยาวเกือบถึงน่อง ขมวดผมม้วนเป็นกลุ่มไว้ข้างหน้าแบบปั้นเกล้าซอย แต่ไม่ต้องปล่อยชายผมออกมา ต้องทำให้ผมมีกลุ่มใหญ่จะสวยงาม (ประเพณีไทยทรงดำ ถ้าหญิงสาวใดยังทำผมปั้นเกล้าไม่ได้ ยังไม่ให้แต่งงาน หรือห้ามเกี่ยวข้องกันในเรื่องชู้สาวกับชายใด)
  12. ทรงปั้นเกล้าต่วง
  13. ทรงปั้นเกล้าตก (ต๊ก หรือ ทุกข์) แบบผมสำหรับหญิงหม้ายไว้ทุกให้กับสามี ขณะศพยังอยู่บนบ้าน จะปล่อยผมลงหมดไม่ปั้นเกล้าเลย และเอาเครื่องประดับออกหมด เมื่อทำการเผาศพเชิญวิญญาณมาเป็นผีเรือน แล้วต้องไว้ทุกข์ 1 ปี ต้องทำผมปั้นเกล้าตก คือทำให้กลุ่มผมที่เกล้าห้อยอยู่ท้ายทอย ถ้าศพฝังนานโดยไม่เผา (หลายปี) ก็ต้องปั้นเกล้าตามเดิม ในการกลับมาทำผมปั้นเกล้าใหม่นี้ ต้องให้หญิงที่มีเรือนแล้วมีความสุข ความเจริญรุ่งเรืองมาทำผมให้ กำหนดวันตามชอบ ระหว่างทำผมจะมีคนมาอวยชัยให้พร
ทรงปั้นเกล้าตก
ที่มา :
ไพรัช  บัวบังใบ. (2547). ไทยทรงดำ. 8 ชาติพันธุ์ในราชบุรี. สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรีและสภาวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี : ธรรมรักษ์การพิมพ์. (หน้า 153-154)
อ่านต่อ >>

วันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ความเชื่อของชาวไทยมอญ

ในหนังสือ 8 ชาติพันธุ์ในราชบุรี ซึ่งจัดพิมพ์ขึ้นในปี พ.ศ.2547  ผศ.อาภรณ์ สุนทรวาท ผู้อำนวยการสำนักศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ได้รวบรวมความเชื่อของชาวไทยมอญ ไว้ดังนี้
  1. เชื่อว่าการทำบุญให้ทานอะไรก็ตามย่อมส่งผลถึงผู้ที่เราปรารถนาจะอุทิศส่วนกุศลให้ ชาวไทยมอญส่วนใหญ่ปรารถนาจะนิพพาน โดนสังเกตจากคำอธิษฐานที่ว่า "นิพพาน ปัจจะโยโหตุ" ขอให้เป็นปัจจัย สำเร็จพระนิพพานด้วยเทอญ
  2. เชื่อว่าการไปทำบุญ จะต้องแต่งตัวให้ถูกต้องตามกาละเทศะ ภาชนะที่ใส่อาหารไปทำบุญจะต้องตระเตรียมอย่างปราณีต เพราะจะส่งผลไปถึงอนาคตชาติ
  3. มีความเชื่อว่าการทำบุญที่ทำบุญแล้วได้บุญมากคือ -การสร้างพระพุทธ คือ การสร้างพระพุทธรูป-การสร้างพระธรรม คือ การสร้างพระไตรปิฏก และพระอภิธรรม-การสร้างพระสงฆ์ คือ การบวชพระ
  4. มีความเชื่อในการนับถือพระพุทธศาสนา ชาวไทยมอญมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก โดยถือว่าพระพุทธเจ้าเป็นองค์เคารพสักการะบูชาสูงสุด
  5. ความเชื่อในการนับถือพระพุทธศาสนา และเคร่งครัดในศาสนา พระมอญจะถือเคร่งทางวินัยมาก ถึงกับมีคำที่ว่า "ถือศีลต้องพระไทย วินัยต้องพระมอญ" ซึ่งการถือศีลอย่างเคร่งครัดจึงเป็นต้นกำเนิดของพระธรรมยุติกนิกายในประเทศไทย
  6. ปัจจุบันนี้พระมอญยังเคร่งครัดวินัยอยู่ จะไม่เห็นพระมอญในเวลากลางวันอาบน้ำริมน้ำมานั่งเล่นหน้าวัด เดินไปในหมู่บ้าน เป็นต้น
  7. ในวัดมอญทุกวัด จะมีศาลเจ้าประจำวัด มอญเรียกว่า "ตะละพาน"
  8. ชาวบ้านจะเคารพสถานที่ในวัด
  9. ความเชื่อว่าวัดใน ช่อฟ้าใบระกา หน้าบันพังทลายลงมา อย่าไดนำขึ้นไปอีก
  10. มีความเชื่อว่าวัดใดที่กำลังปลุกเสกพระอยู่ ผู้หญิง สุนัข เข้าไปไม่ได้
  11. มีความเชื่อเรื่องการบวชเรียน มักจะเห็นว่า ชาวบ้านเดินผ่านหน้าโบสถ์ก็ต้องแสดงความเคารพกราบไหว้พระ ผู้หญิงห้ามเข้าไปในโบสถ์หรือบริเวณกุฏิพระ ชาวไทยมอญมีความเชื่อว่า ลูกผู้ชายที่เกิดในสายเลือดของชาวพุทธจะต้องบวช ชีวิตลูกผู้ชายถึงจะสมบูรณ์และได้กุศลอย่างแรง
  12. มีความเชื่อ เมื่อบ้านใดมีทารกเกิดใหม่จะต้องนำทารกนั้นไปใส่ในกระด้งร่อน แล้วพูดว่า "สามวันลูกผี สี่วันลูกคน" ต่อเด็ก
  13. มีความเชื่อเรื่องการโกนผมไฟ การโกนผมไฟ เป็นการสู่ขวัญเด็ก และสู่ขวัญบิดามารดา เพื่อให้เกิดความสบายใจ ด้วยเชื่อมั่นในความศักดิ์สิทธิ์ของพิธี ที่จะทำให้เป็นมงคลต่อเด็ก
  14. มีความเชื่อว่า ทำดีได้ดี ทำประณีตได้ประณีต
  15. มีความเชื่อเกี่ยวกับการปลูกเรือนว่า เวลาปลูกสร้างบ้านเรือนให้ปลูกวันเกิดของผู้สร้าง (เจ้าของ)
  16. มีความเชื่อว่า เวลาปลูกบ้านต้องปลูกให้เสาเท่ากันหมด เชื่อว่าจะมีความสุข
  17. มีความเชื่อว่า เมื่อจะขึ้นบ้านใหม่ต้องเลือกวันและมีกำหนดไว้ว่าแต่ละวันจะทำอะไร
  18. มีความเชื่อเกี่ยวกับ ความกตัญญูกตเวที น้องๆ ควรเชื่อฟังพี่คนโตซึ่งได้ถ่ายทอดผีบรรพบุรุษแห่งตระกูล
  19. มีความเชื่อว่า ระบบเพื่อนบ้านและระบบเครือญาติทำให้การเป็นอยู่ในสังคม มีการพึ่งพาถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกันให้ความเกรงใจและความเคารพนับถือกัน
  20. มีความเชื่อว่า บุคคลที่มีนามสกุลเดียวกัน จะจัดงานบวชนาคกับแต่งงานวันเดยวกันไม่ได้
  21. เมื่อมีลูกสาวที่แต่งงานแล้ว จะให้ย้ายไปอยู่ที่อื่น ไม่ให้นอนบ้านเดียวกับพ่อแม่
  22. มีความเชื่อว่า ตุ๊กตาเป็นสิ่งไม่ดี จึงห้ามนำเข้าบ้าน เพราะจะทำให้ไม่มีความสุข
  23. มีความเชื่อเกี่ยวกับต้นไม้ว่า ห้ามปลูกต้นราตรี ต้นลั่นทม ต้นพิกุล ไว้ในบ้านเพราะต้นไม้เหล่านี้เป็นต้นไม้ที่อยู่ในวัด
  24. มีความเชื่อว่า ต้นไม้ที่มีชื่อต่อไปนี้ คือ ต้นโพธิ์ ต้นหว้า ต้นบุนนาค ต้นงิ้ว ถ้างอกขึ้นข้างๆ บ้าน รีบทำลายเสียอย่าได้เก็บไว้ จะทำให้เจ้าของบ้านได้รับความเสียหาย
  25. มีคววามเชื่อในเรื่องเต่า ชาวไทยมอญจะไม่จับเต่ามาเป็นอาหาร ไม่จับตัวเต่าที่มีชีวิต เมื่อพบเห็นจึงต้องพูดว่า "เต่าตัวนี้ตายแล้ว" เพื่อเป็นการแก้เคล็ด แล้วนำเต่าไปปล่อย
  26. มีความเชื่อว่า ศพคนตายต้องหันหน้าไปทางทิศเหนือ
  27. มีความเชื่อว่า ภายในเดือน 6 เดือน 9 จะมีการทำพิธีไหว้ผีบ้านผีเรือน ปู่ย่า ตายาย โโยมีเครื่องไหว้ คือ กล้วย ไก่ หมู ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว
  28. มีความเชื่อว่า ที่บ้านชาวไทยมอญจะต้องมีที่ตั้งบูชาผีบรรพบุรุษ มีวิธีเซ่นผี เลี้ยงผี พิธีรำผี
  29. มีความเชื่อและเคารพบรรพบุรุษ ไม่ว่าท่านจะล่วงลับไปแล้วหรือยังมีชีวิตอยู่ก็ตาม เพราะการเคารพเทิดทูนบูชาบรรพบุรุษ ย่อมนำความเจริญมาถึงตนและครอบครัว ตามหลักพระพุทธศาสนาที่ว่า "ปูชนียานัง" หมายถึงการบูชาบุคคลที่ควรเคารพ
  30. มีความเชื่อว่า บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วยังหิวโหยอยู่ ยังชอบนับประทานอาหารตามเทศกาล กล่าวคือ ขนมกาละแม จะมีในเทศกาลสงกรานต์ ขนมกระยาสารทมีในเทศกาลออกพรรษา ข้าวเม่าทอด มีในเทศกาลทอดกฐิน ข้าวต้มลูกโยนน้ำผึ้ง มีในวันเพ็ญเดือนสิบ ดังนั้นอาหารที่นำไปถวายพระ จะต้องทำอาหารให้ถูกเทศกาล ไม่เช่นนั้นแล้วบรรพบุรุษจะไม่ได้รับส่วนกุศลที่อุทิศไปให้
  31. มีความเชื่อว่า บรรพบุรุษกับพวก เขาสามารถติดต่อกันได้ตลอดเวลา และมักจะพบว่า ผีบรรพบุรุษได้รู้ด้วยการเซ่นไหว้อยู่เสมอ การทำบุญต้องอุทิศส่วนกุศลให้ การแต่งงานถือว่าจำเป็นจะต้องบอกให้ผีบรรพบุรุษรู้ เพราะถือว่ามีสมาชิกใหม่มาเพิ่มในครอบครัว ต้องให้ผีบรรพบุรุษทั้งสองฝ่ายรับรู้ โดยจัดสิ่งของเซ่นไหว้ เช่น ผ้าขาว เหล้า ไก่ โดยฝ่ายเจ้าบ่าวเป็นฝ่ายจัดหา ที่เรียกว่า เครื่องขันหมากจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนหนึ่งให้เจ้าสาว เซ่นไหว้บรรพบุรุษของเจ้าสาว อีกส่วนให้เจ้าบ่าวนำไปเซ่นไหว้บรรพบุรุษของเจ้าบ่าว
  32. มีความเชื่อว่า ผีบรรพบุรุษ เจ้าพ่อ เจ้าแม่ ที่เคารพมาแต่อยู่กรุงหงสาวดี และอัญเชิญมาประดิษฐานในชุมชนของตัวเอง โดยปลูกศาลเจ้าให้เป็นที่สถิตดวงวิญญาณเหล่านั้น เพราะความผูกพันก็มีอยู่ตลอดเวลา
  33. มีความเชื่อในผีบรรพบุรุษ ชาวไทยมอญมีความเชื่อว่า ลูกชายคนโตของตระกูลจะเป็นผู้รับผีบรรพบุรุษต่อจากบิดา-มารดา หรือคนรุ่นเก่าที่ล่วงลับไปแล้ว ที่บ้านจะมีที่ตั้งผีบรรพบุรุษ  เชื่อว่าผีบรรพบุรุษจะสิงสถิตอยู่ที่เสาเอกของเรือน โดยมีสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่าเป็นเสาผี คือ หีบ หรือกระบุ้งใส่ผ้าผี ได้แก่ สไบ ผ้าซิ่น ผ้าขาวม้า แหวนหัวพลอยแดง แขวนไว้ที่เสาผี
  34. เชื่อว่า การที่ผู้หญิงไปแต่งงานกับคนต่างตระกูลหรือต่างผี จะต้องทำพิธีคืนผีเพื่อบอกกล่าวก่อนที่จะไปเข้ากับผีฝ่ายสามี
  35. เชื่อว่า ผู้ใดที่อยู่ในตระกูลทำผิดซึ่งระเบียบหรือข้อห้าม จะทำให้มีการเจ็บป่วยเกิดขึ้นซึ่งจะต้องจัดพิธรรำผี
  36. เชื่อว่า ชายหญิงที่ไม่ใช่ลูก (คนละผีกัน) จะร่วมหลับนอนกันภายในบ้านไม่ได้
  37. มีความเชื่อว่า หญิงมีครรภ์ที่ไม่ใช่ลูกสาวห้ามนอนบนเรือน
  38. มีความเชื่อว่า เมื่อมีคนในตระกูลตายหรือท้องในปีนั้น (สิ้นสุดเดือน 6) ห้ามคนในตระกูลจัดงานพิธีต่างๆ เช่น พิธโกนจุก แต่งงาน บวช หรือเลี้ยงผี
  39. มีความเชื่อว่า หมู่บ้านชาวไทยมอญทุกหมู่บ้าน จะต้องมีศาลเจ้าประจำหมู่บ้าน ทุกๆ ปีหลังสงกรานต์แล้วจะต้องทำพิธี "รำเจ้า" ประจำหมู่บ้าน
ที่มา :
ข้อมูล : อาภรณ์ สุนทรวาท. (2547). ไทยมอญ. 8 ชาติพันธุ์ในราชบุรี. สำนักวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรีและสภาวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี : ธรรมรักษ์การพิมพ์. (หน้า 70-73)  
อ่านต่อ >>

วันอาทิตย์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2553

เงาชีวิตในภาพเขียน (ที่ราชบุรี)

"ศิลปะ คือกระจกเงาที่สะท้อนให้เห็นสังคม"
ภาพเขียนหรือภาพจิตรกรรมที่ปรากฏอยู่ตามวัดต่างๆ ในราชบรุีก็เป็นเช่นนั้น ชีวิตสังคมในภาพเขียนที่จิตรกรพยายามสะท้อนออกมา มิได้ไกลเกินการรับรู้ของผู้คนรอบวัดในปัจจุบัน ภาพเหล่านี้ยังชัดเจนอยู่ในความทรงจำ ด้วยกลุ่มคนรอบวัด ก็คือผู้ร่วมยุคสมัยที่ได้รับรู้เรื่องราว และเป็นเฉกเช่นตัวละครที่โลดแล่นในภาพเขียนเหล่านั้น จะมีอะไรเล่าตื่นเต้นเท่ากับการมาชมภาพเขียน พร้อมฟังคำพรรณาบอดเล่าเรื่องราวจากผู้ที่เคยอยู่ในเหตุการณ์

ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดคงคาราม
น. ณ ปากน้ำ ศิลปินแห่งวงการศิลปะกล่าวว่า "ภาพเขียนที่พบในราชบุรี เมื่อเทียบกับภาพเขียนระดับฝีมือชาวบ้านในภาคกลาง นับว่าใช้ได้ทีเดียว ใช้สีน้อยสีและไม่ตัดกันฉูดฉาดเกินไป การใช้สีวรรณะเดียวกันเป็นไปอย่างกลมกลืน เส้นสายก็ดูคมปราณีต แม้เป็นงานฝีมือชาวบ้านก็ตาม ภาพเขียนบางแห่งช่างพยายามจะเลียนแบบช่างหลวง ทว่ายังไปไม่ถึงขั้น อีกทั้งภสพเขียนที่ปรากฏในราชบุรียังได้บันทึกเรื่องราวของความหลากหลายชีวิตในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย การละเล่น วัฒนธรรมประเพณี ซึ่งบางอย่างนั้นได้สูญหายไปจากชุมชน เหลือเพียงภาพเขียนเป็นประจักษ์พยานอยู่"

เป็นที่น่าสังเกตว่า ภาพเขียนที่พบมักปรากฏอยู่ตามศาลาการเปรียญและศาสนอาคารต่างๆ เช่น ศาลาดิน (ศาลาโถงที่ปลูกไว้ในวัดหรือริมทางเดินในหมู่บ้าน ระดับพื้นจะยกสูงขึ้นมาเหนือพื้นดินเล็กน้อย) หอระฆัง หรือแม้กระทั่งบนผืนผ้าพระเวสที่วัดกำแพงใต้ อ.โพธาราม ซึ่งชุมชนรอบวัดเป็นชาวลาวเวียง หรือผ้าพระบฏในคัมภีร์มอญที่วัดม่วง(บน) อ.บ้านโป่ง วัดของกลุ่มชาวมอญลุ่มแม่น้ำปม่กลองเป็นต้น

ความน่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ ศาลาการเปรียญในวัดต่างๆ บริเวณราชบุรีกับปากน้ำแม่กลอง (สมุทรสงคราม) มีเอกลักษณ์แปลกกว่าที่อื่น คือเพดานประดับตกแต่งด้วยภาพเขียนอย่างสวยงาม มิใช่มีอยู่ตามไม้คอสอง (ไม้คอสองคือแผ่นไม้หน้ากว้างยาวตลอดที่ปิดเชื่อมหลังคาลดชั้นข้างใน) อย่างที่พบเห็นทั่วไปเท่านั้น หากแต่ช่างได้เขียนภาพเต็มพื้นเพดานของศาลาเป็นเรื่องราวตามจินตนาการของช่างเขียน ทว่าพื้นฐานของเรื่องราวคืดสิ่งที่เคยปรากฏในสังคมชุมชนของตน เช่นที่เพดานศาลาการเปรียญวัดทุ่งหญ้าคมบาง ศูนย์กลางชุมชนชาวยวนแห่งหนึ่งในราชบุรี เขียนรูปคนมีลายสักตั้งแต่ระดับสะดือลงไปถึงหัวเข่า เป็นการสักในกลุ่มลาวพุงดำหรือลาวยวน ซึ่งเป็นเชื้อสายเดียวกันกับคนในบริเวณนี้ด้วย

น. ณ ปากน้ำ ยังให้ความเห็นอีกว่า เท่าที่ได้ออกสำรวจวัดทั่วประเทศ พบว่า ศาลาการเปรียญบริเวณดังกล่าวมีลักษณะแปลกกว่าที่อื่น พร้อมทั้งให้ข้อสังเกตว่า อาจนิยมตามกันจนเป็นเอกลักษณ์ก็เป็นได้ ศาลาการเปรียญเป็นสถานที่ที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์ใกล้ชิดกว่าศาสนอาคารอื่นๆ เป็นที่ชุมนุมในวันพระวันศีล จึงได้ตกแต่งกันอย่างวิจิตร บ่งบอกฐานะและความศรัทธาของชาวบ้านได้ด้วย

ภาพจิตกรรมฝาผนัง
วัดทุ่งหญ้าคมบาง
หากพิจารณาดูรายละเอียดของภาพเขียนแล้ว จะเห็นว่ามีศิลปะไทย จีน ฝรั่ง ผสมผสานกันอย่างลงตัว ลายกนกที่ศาลาการเปรียญวัดทุ่งหญ้าคมบาง มีลูกไม้ตูมๆ อย่างฝรั่งประดับประกอบขึ้นเป็นลายเครือเถา และยังมี "ลายค้างคาว" ซึ่งช่างจีนนิยมและนำเข้ามาเผยแพร่ เดิมรูปค้างคาวนิยมเขียนอยู่ตรงมุมทั้งสี่ของเพดาน ต่อมาแม้จะเขียนเป็นลวดลายอื่นแทน แต่ยังจดวางอยู่ในตำแหน่งมุมทั้งสี่เช่นเดิม และสีที่ใช้ก็เป็นสีเข้มออกโทนดำ น้ำเงิน คราม และมีสีทองผสมด้วย

มาถึงตรงนี้ คงต้องกล่าวถึงความสำคัญของค้างคาวกับสถาปัตยกรรมจีนเล็กน้อย อันที่จริงสัตว์มงคลที่ปรากฏในงานสถาปัตยกรรมจีนนั้น มีมากมายกลายชนิด ค้างคาวก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น เชื่อว่าเป็นที่มาของโชคลาภ ความสุขความเจริญ ช่างจีนจึงมักวาดสัตว์ชนิดนี้ประดบประดาตามศาสนอาคารทั่วไป

จากปากคำของชาวบ้านแถบลุ่มน้ำแม่กลองเล่าตรงกันว่า ในอดีตช่างไม่ช่างเขียนส่วนใหญ่ในแถบนี้เป็นชาวจีนไหหลำ มาจากปากแม่น้ำแม่กลอง (สุมทรสงคราม) ซึ่งปัจจุบันยังมีชุมชนชาวจีนตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น นับตั้งแต่ อ.วัดเพลง อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ต่อไปถึง อ.บางคนที และ อ.อัมพวา สมุทรสงคราม อิทธิพลศิลปวัฒนธรรมจีนจึงแฝงฝังถ่ายทอดปรากฏตามวัดวาอารามบริเวณดังกล่าว

ตัวอย่างภาพที่น่าสนใจอีกภาพหนึ่งจากวัดเดียวกันนี้คือ ภาพลิงต่อตัวเป็นรูปช้างสามเศียร ซึ่งลักษณะการเขียนเช่นนี้เป็นที่นิยมในสมัยพระเทวาภินิมมิต ผู้อำนวยการซ่อมจิตรกรรมฝาผนังวัดพระแก้ว เมื่อครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รูปลักษณะดังกล่าวยังมีปรากฏอยู่บนกำแพงรอบอุโบสถวัดพระแก้วด้วย

ภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยาตอนต้น
ภายในปรางค์ประธาน วัดมหาธาตุ
จากการเที่ยวสำรวจภาพเขียนตามวัดต่างๆ ในราชบุรี ผู้เขียนพบว่ามีทั้งรุ่นเก่าที่สุดถึงสมัยอยุธยาตอนต้น อย่างเช่นในปรางค์ประธานของวัดมหาธาตุ ซึ่งมีการเขียนสีบนปูนที่ยังไม่แห้งสนิท อันเป็นวิธีการเดียวกับภาพเขียนที่พบในกรุปรางค์วัดราชบูรณะ อยุธยา และรุ่นใหม่คือ ยุครัตนโกสินทร์ ช่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงรัชกาลพระบามสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่นภาพเขียนที่ศาลาการเปรียญวัดใหญ่อ่างทอง อ.เมืองราชบุรี ซึ่งให้อารมณ์ขันแก่ผู้ชม เพราะดูเหมือนว่า ศิลปินจงใจจับเอาศัตรูคู่อริมาวาดไว้คู่กัน เช่น ชาละวันกับไกรทอง พญานาคกับพญาครุฑ พลายชุมพลกับเถนขวาด เป็นต้น ภาพที่อยู่ถัดๆ ไป ก็สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นคนที่รู้จักโดยทั่วไปในสังคมรอบวัด ชวนให้อดคิดไม่ได้ว่าน่าจะเป็นคู่อริกันด้วย ช่างได้เขียนชื่อทั้งคู่กำกับไว้เหมือนเป็นการล้อเลียนให้ขันเล่น เช่น หมื่นระงับสระจิตร์กับขุนวินิจเห็น นายกะเหรี่ยงกับนายกะหร่าง เจ๊กเห่งกับเจ๊กฮะ น่าเสียดายที่ไม่มีใครสามารถบอกเล่าประกอบภาพได้ว่า เขาเหล่านั้นมีเรื่องขุ่นข้องหมองใจอันใด ไม่เช่นนั้นคงดูได้สนุกกว่านี้

ที่วัดไทรอารีรักษ์ อ.โพธาราม ซึ่งเคยเป็นวัดของกลุ่มชาวมอญมาก่อน นอกจากจะมีภาพเขียนในโบสถ์แล้ว ในศาลาการเปรียญที่ไม้คอสองก็มี ฝีมือประณีตทีเดียว ทว่าวัดนี้ได้รื้อศาลาลง ปลดเอาไม้คอสองออก โดยยังไม่ได้นำไปติดตั้งในที่ใด ปล่อยทิ้งให้มดปลวกทำความเสียหายให้แก่ภาพเขียนอย่างน่าเสียดาย

วัดบ้านเลือก ของกลุ่มชาวลาวเชื้อสายเวียงจันทร์ แถบอำเภอโพธาราม วัดนาหนองของกลุ่มชาวยวนเชื้อสายเชียงแสน ก็มีภาพเขียนที่ไม้คอสองในศาลาการเปรียญเช่นกัน แต่ทางวัดได้รื้อตกแต่งศาลาการเปรียญใหม่ ภาพเขียนเก่าโบราณจึงถูกแต่งแต้มสีใหม่ โดยขาดความรู้ความชำนาญในเชิงอนุรักษ์

ที่กล่าวมาคือตัวอย่างภาพเขียนที่ปรากฏอยู่ตามวัดต่างๆ ในราชบุรี มีทั้งฝีมือที่อาจเทียบเคียงช่างหลวง คือประณีตงดงาม และฝีมือชาวบ้านเรียบง่ายแต่แฝงลีลาอันสนุกสนาน พร้อมกับเรื่องราวของความเสียหายที่กำลังคืบคลานทำลายภาพเขียนในราชบุรี

ดูเพิ่มเติม
ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดคงคาราม

ที่มา :
ข้อมูล : กุศล เอี่ยมอรุณ. (2541). เงาชีวิตในภาพเขียน. ราชบุรี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สารคดี. (หน้า 350-352)
ภาพบนและล่าง : http://www.era.su.ac.th/Mural/ratchabury/index.html
ภาพกลาง : http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=jidjad&month=15-11-2006&group=90&gblog=2
อ่านต่อ >>