วันอาทิตย์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2553

เงาชีวิตในภาพเขียน (ที่ราชบุรี)

"ศิลปะ คือกระจกเงาที่สะท้อนให้เห็นสังคม"
ภาพเขียนหรือภาพจิตรกรรมที่ปรากฏอยู่ตามวัดต่างๆ ในราชบรุีก็เป็นเช่นนั้น ชีวิตสังคมในภาพเขียนที่จิตรกรพยายามสะท้อนออกมา มิได้ไกลเกินการรับรู้ของผู้คนรอบวัดในปัจจุบัน ภาพเหล่านี้ยังชัดเจนอยู่ในความทรงจำ ด้วยกลุ่มคนรอบวัด ก็คือผู้ร่วมยุคสมัยที่ได้รับรู้เรื่องราว และเป็นเฉกเช่นตัวละครที่โลดแล่นในภาพเขียนเหล่านั้น จะมีอะไรเล่าตื่นเต้นเท่ากับการมาชมภาพเขียน พร้อมฟังคำพรรณาบอดเล่าเรื่องราวจากผู้ที่เคยอยู่ในเหตุการณ์

ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดคงคาราม
น. ณ ปากน้ำ ศิลปินแห่งวงการศิลปะกล่าวว่า "ภาพเขียนที่พบในราชบุรี เมื่อเทียบกับภาพเขียนระดับฝีมือชาวบ้านในภาคกลาง นับว่าใช้ได้ทีเดียว ใช้สีน้อยสีและไม่ตัดกันฉูดฉาดเกินไป การใช้สีวรรณะเดียวกันเป็นไปอย่างกลมกลืน เส้นสายก็ดูคมปราณีต แม้เป็นงานฝีมือชาวบ้านก็ตาม ภาพเขียนบางแห่งช่างพยายามจะเลียนแบบช่างหลวง ทว่ายังไปไม่ถึงขั้น อีกทั้งภสพเขียนที่ปรากฏในราชบุรียังได้บันทึกเรื่องราวของความหลากหลายชีวิตในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย การละเล่น วัฒนธรรมประเพณี ซึ่งบางอย่างนั้นได้สูญหายไปจากชุมชน เหลือเพียงภาพเขียนเป็นประจักษ์พยานอยู่"

เป็นที่น่าสังเกตว่า ภาพเขียนที่พบมักปรากฏอยู่ตามศาลาการเปรียญและศาสนอาคารต่างๆ เช่น ศาลาดิน (ศาลาโถงที่ปลูกไว้ในวัดหรือริมทางเดินในหมู่บ้าน ระดับพื้นจะยกสูงขึ้นมาเหนือพื้นดินเล็กน้อย) หอระฆัง หรือแม้กระทั่งบนผืนผ้าพระเวสที่วัดกำแพงใต้ อ.โพธาราม ซึ่งชุมชนรอบวัดเป็นชาวลาวเวียง หรือผ้าพระบฏในคัมภีร์มอญที่วัดม่วง(บน) อ.บ้านโป่ง วัดของกลุ่มชาวมอญลุ่มแม่น้ำปม่กลองเป็นต้น

ความน่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ ศาลาการเปรียญในวัดต่างๆ บริเวณราชบุรีกับปากน้ำแม่กลอง (สมุทรสงคราม) มีเอกลักษณ์แปลกกว่าที่อื่น คือเพดานประดับตกแต่งด้วยภาพเขียนอย่างสวยงาม มิใช่มีอยู่ตามไม้คอสอง (ไม้คอสองคือแผ่นไม้หน้ากว้างยาวตลอดที่ปิดเชื่อมหลังคาลดชั้นข้างใน) อย่างที่พบเห็นทั่วไปเท่านั้น หากแต่ช่างได้เขียนภาพเต็มพื้นเพดานของศาลาเป็นเรื่องราวตามจินตนาการของช่างเขียน ทว่าพื้นฐานของเรื่องราวคืดสิ่งที่เคยปรากฏในสังคมชุมชนของตน เช่นที่เพดานศาลาการเปรียญวัดทุ่งหญ้าคมบาง ศูนย์กลางชุมชนชาวยวนแห่งหนึ่งในราชบุรี เขียนรูปคนมีลายสักตั้งแต่ระดับสะดือลงไปถึงหัวเข่า เป็นการสักในกลุ่มลาวพุงดำหรือลาวยวน ซึ่งเป็นเชื้อสายเดียวกันกับคนในบริเวณนี้ด้วย

น. ณ ปากน้ำ ยังให้ความเห็นอีกว่า เท่าที่ได้ออกสำรวจวัดทั่วประเทศ พบว่า ศาลาการเปรียญบริเวณดังกล่าวมีลักษณะแปลกกว่าที่อื่น พร้อมทั้งให้ข้อสังเกตว่า อาจนิยมตามกันจนเป็นเอกลักษณ์ก็เป็นได้ ศาลาการเปรียญเป็นสถานที่ที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์ใกล้ชิดกว่าศาสนอาคารอื่นๆ เป็นที่ชุมนุมในวันพระวันศีล จึงได้ตกแต่งกันอย่างวิจิตร บ่งบอกฐานะและความศรัทธาของชาวบ้านได้ด้วย

ภาพจิตกรรมฝาผนัง
วัดทุ่งหญ้าคมบาง
หากพิจารณาดูรายละเอียดของภาพเขียนแล้ว จะเห็นว่ามีศิลปะไทย จีน ฝรั่ง ผสมผสานกันอย่างลงตัว ลายกนกที่ศาลาการเปรียญวัดทุ่งหญ้าคมบาง มีลูกไม้ตูมๆ อย่างฝรั่งประดับประกอบขึ้นเป็นลายเครือเถา และยังมี "ลายค้างคาว" ซึ่งช่างจีนนิยมและนำเข้ามาเผยแพร่ เดิมรูปค้างคาวนิยมเขียนอยู่ตรงมุมทั้งสี่ของเพดาน ต่อมาแม้จะเขียนเป็นลวดลายอื่นแทน แต่ยังจดวางอยู่ในตำแหน่งมุมทั้งสี่เช่นเดิม และสีที่ใช้ก็เป็นสีเข้มออกโทนดำ น้ำเงิน คราม และมีสีทองผสมด้วย

มาถึงตรงนี้ คงต้องกล่าวถึงความสำคัญของค้างคาวกับสถาปัตยกรรมจีนเล็กน้อย อันที่จริงสัตว์มงคลที่ปรากฏในงานสถาปัตยกรรมจีนนั้น มีมากมายกลายชนิด ค้างคาวก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น เชื่อว่าเป็นที่มาของโชคลาภ ความสุขความเจริญ ช่างจีนจึงมักวาดสัตว์ชนิดนี้ประดบประดาตามศาสนอาคารทั่วไป

จากปากคำของชาวบ้านแถบลุ่มน้ำแม่กลองเล่าตรงกันว่า ในอดีตช่างไม่ช่างเขียนส่วนใหญ่ในแถบนี้เป็นชาวจีนไหหลำ มาจากปากแม่น้ำแม่กลอง (สุมทรสงคราม) ซึ่งปัจจุบันยังมีชุมชนชาวจีนตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น นับตั้งแต่ อ.วัดเพลง อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ต่อไปถึง อ.บางคนที และ อ.อัมพวา สมุทรสงคราม อิทธิพลศิลปวัฒนธรรมจีนจึงแฝงฝังถ่ายทอดปรากฏตามวัดวาอารามบริเวณดังกล่าว

ตัวอย่างภาพที่น่าสนใจอีกภาพหนึ่งจากวัดเดียวกันนี้คือ ภาพลิงต่อตัวเป็นรูปช้างสามเศียร ซึ่งลักษณะการเขียนเช่นนี้เป็นที่นิยมในสมัยพระเทวาภินิมมิต ผู้อำนวยการซ่อมจิตรกรรมฝาผนังวัดพระแก้ว เมื่อครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รูปลักษณะดังกล่าวยังมีปรากฏอยู่บนกำแพงรอบอุโบสถวัดพระแก้วด้วย

ภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยาตอนต้น
ภายในปรางค์ประธาน วัดมหาธาตุ
จากการเที่ยวสำรวจภาพเขียนตามวัดต่างๆ ในราชบุรี ผู้เขียนพบว่ามีทั้งรุ่นเก่าที่สุดถึงสมัยอยุธยาตอนต้น อย่างเช่นในปรางค์ประธานของวัดมหาธาตุ ซึ่งมีการเขียนสีบนปูนที่ยังไม่แห้งสนิท อันเป็นวิธีการเดียวกับภาพเขียนที่พบในกรุปรางค์วัดราชบูรณะ อยุธยา และรุ่นใหม่คือ ยุครัตนโกสินทร์ ช่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงรัชกาลพระบามสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่นภาพเขียนที่ศาลาการเปรียญวัดใหญ่อ่างทอง อ.เมืองราชบุรี ซึ่งให้อารมณ์ขันแก่ผู้ชม เพราะดูเหมือนว่า ศิลปินจงใจจับเอาศัตรูคู่อริมาวาดไว้คู่กัน เช่น ชาละวันกับไกรทอง พญานาคกับพญาครุฑ พลายชุมพลกับเถนขวาด เป็นต้น ภาพที่อยู่ถัดๆ ไป ก็สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นคนที่รู้จักโดยทั่วไปในสังคมรอบวัด ชวนให้อดคิดไม่ได้ว่าน่าจะเป็นคู่อริกันด้วย ช่างได้เขียนชื่อทั้งคู่กำกับไว้เหมือนเป็นการล้อเลียนให้ขันเล่น เช่น หมื่นระงับสระจิตร์กับขุนวินิจเห็น นายกะเหรี่ยงกับนายกะหร่าง เจ๊กเห่งกับเจ๊กฮะ น่าเสียดายที่ไม่มีใครสามารถบอกเล่าประกอบภาพได้ว่า เขาเหล่านั้นมีเรื่องขุ่นข้องหมองใจอันใด ไม่เช่นนั้นคงดูได้สนุกกว่านี้

ที่วัดไทรอารีรักษ์ อ.โพธาราม ซึ่งเคยเป็นวัดของกลุ่มชาวมอญมาก่อน นอกจากจะมีภาพเขียนในโบสถ์แล้ว ในศาลาการเปรียญที่ไม้คอสองก็มี ฝีมือประณีตทีเดียว ทว่าวัดนี้ได้รื้อศาลาลง ปลดเอาไม้คอสองออก โดยยังไม่ได้นำไปติดตั้งในที่ใด ปล่อยทิ้งให้มดปลวกทำความเสียหายให้แก่ภาพเขียนอย่างน่าเสียดาย

วัดบ้านเลือก ของกลุ่มชาวลาวเชื้อสายเวียงจันทร์ แถบอำเภอโพธาราม วัดนาหนองของกลุ่มชาวยวนเชื้อสายเชียงแสน ก็มีภาพเขียนที่ไม้คอสองในศาลาการเปรียญเช่นกัน แต่ทางวัดได้รื้อตกแต่งศาลาการเปรียญใหม่ ภาพเขียนเก่าโบราณจึงถูกแต่งแต้มสีใหม่ โดยขาดความรู้ความชำนาญในเชิงอนุรักษ์

ที่กล่าวมาคือตัวอย่างภาพเขียนที่ปรากฏอยู่ตามวัดต่างๆ ในราชบุรี มีทั้งฝีมือที่อาจเทียบเคียงช่างหลวง คือประณีตงดงาม และฝีมือชาวบ้านเรียบง่ายแต่แฝงลีลาอันสนุกสนาน พร้อมกับเรื่องราวของความเสียหายที่กำลังคืบคลานทำลายภาพเขียนในราชบุรี

ดูเพิ่มเติม
ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดคงคาราม

ที่มา :
ข้อมูล : กุศล เอี่ยมอรุณ. (2541). เงาชีวิตในภาพเขียน. ราชบุรี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สารคดี. (หน้า 350-352)
ภาพบนและล่าง : http://www.era.su.ac.th/Mural/ratchabury/index.html
ภาพกลาง : http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=jidjad&month=15-11-2006&group=90&gblog=2

ไม่มีความคิดเห็น: