วันเสาร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2552

เพลงเต้นกำรำเคียว



เพลงเต้นกำรำเคียว เป็นเพลงที่เล่นหลังจากเกี่ยวข้าวกันจนเหน็ดเหนื่อยแล้ว เวลาเล่นชาวนาจะยืนกันเป็นวงกลม มือขวาถือเคียว มือซ้ายถือรวงข้าว เต้นไป ร้องไป เรื่อยๆ เมื่อต้นเสียงร้องนำขึ้นมา คนอื่นๆ ที่เป็นลูกคู่จะร้องสร้อยรับตาม แต่จะไม่มีการปรบมือ เพราะกำลังกำเคียวอยู่
เนื้อหาของเพลงนั้นจะเป็นการร้องแก้เกี้ยวกัน โดยฝ่ายชายเกริ่นเพลงขึ้นมาก่อน ฝ่ายหญิงก็จะเกริ่นตามบ้าง จากนั้นจึงร้องโต้ตอบกัน บางคนอาจจะร้องเพลงไหว้ครูตลกๆ เสียก่อน บ้างก็ว่าทักทายกันไปเลย เพราะเพลงชนิดนี้ ไม่ต้องมีครูก็เล่นได้ ขณะที่ร้องรับกันอยู่นี้ ทุกคนก็จะรำเคียวไปด้วย เท้าก็ขยับเป็นจังหวะ เดินหน้าไปเรื่อยๆ วงเพลงก็จะหมุนเป็นวงกลมไปเรื่อยๆ
เพลงเต้นกำรำเคียวนี้ เป็นเพลงที่มีจังหวะกระชั้น มีการร้อง การรับ กระแทกกระทั้นกันอย่างสนุกสนาน เนื้อเพลงก็ร้องสืบต่อกันมา ตั้งแต่สมัยรุ่นปูย่าจนถึงปัจจุบัน มักจะเป็นบทเบ็ดเตล็ด มีการว่ายั่วเย้าเล็กๆ น้อยๆ ไปจนกระทั่งออกแดง ซึ่งหมายถึง ร้องโต้ตอบกันด้วยถ้อยคำหยาบโลน
การแต่งกาย
ฝ่ายหญิง แต่งตัวตามสะดวก ส่วนใหญ่เป็นชุดที่ใส่เกี่ยวข้าว เช่น เสื้อแขนกระบอก นุ่งผ้าโจงกระเบน สวมงอบ
ฝ่ายชาย นุ่งกางเกงครึ่งน่องหรือกางเกงสามส่วน สวมเสื้อแขนยาว มีผ้าขาวม้าเคียนเอว สวมหมวกสาน
อุปกรณ์การเล่น มีเพียงเคียวที่ใช้สำหรับเกี่ยวข้าว และรวงข้าวเท่านั้น
ปัจจุบันเพลงเต้นกำรำเคียวได้สูญหายไปแล้ว เพราะไม่มีการลงแขกช่วยเหลือกันเหมือนเมื่อก่อน มีเพียงการรับจ้างเกี่ยวข้าวแลกกับค่าแรง
ตัวอย่างเพลงเต้นกำรำเคียว
เพลงเต้นกำรำเคียวที่ยกมานี้ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าพบที่ใด แต่จะนำมาเป็นตัวอย่างเพื่อให้รู้จักลักษณะและเนื้อหาของเพลงพอสังเขปเท่านั้น
ชาย มาเถิดนางเอย เอยรา แม่มา มารึมา แม่มา มาเถิดแม่นุชน้อง พี่จะเป็นฆ้องให้น้องเป็นปี่ ต้อยตะริดติดยอดน้ำแห้งน้ำหยอดที่ตรงลิ้นปี่ มาเถิดนะแม่มา มารึมา แม่มา มาเต้นกำย่ำหญ้า กันในนานี้เอย (ลูกคู่รับท่อนทาย)
หญิง มาเถิดนายเอย เอยรา แม่มา มารึมา พ่อมาฝนกระจายปลายนา แล้วน้องจะมาอย่างไรเอย (ลูกคู่รับ)
ชาย ไปเถิดยางเอย เอยรา แม่ไป ไปรึไป แม่ไป ไปชมนกกันที่ในป่า ไปชมพฤกษากันที่ในไพร ไปชมชะนีผีไพร กันเล่นที่ในดงเอย (ลูกคู่รับ)
หญิง ไปเถิดนายเอย เอยรา พ่อไป ไปรึไป พ่อไป น้องเดินขยิกจิกไหล่ ตามก้นพี่ชายไปเอย (ลูกคู่รับ)
ชาย เดินกันเถิดนางเอย เอยรา แม่เดิน เดินรึเดิน แม่เดิน ย่างเท้าขึ้นโคก เสียงนกโพระดกมันร้องเกริ่น จะพาน้องไปท้องเนิน ชมเล่นให้เพลินใจเอย (ลูกคู่รับ)
หญิง เดินกันเถิดนายเอย เอยรา พ่อเดิน เดินรึเดิน พ่อเดินหนทางก็รก ระหกระเหิน แล้วน้องจะเดินอย่างไรเอย (ลูกคู่รับ)
ชาย รำกันเถิดนางเอย เอยรา แม่รำ รำรึรำ แม่รำ ใส่เสื้อเนื้อดี แม่ห่มแต่สีดอกคำ น้อยหรือแน่แม่ช่างรำ แม่เชื้อระบำเก่าเอย (ลูกคู่รับ)
หญิง รำกันเถิดนายเอย เอยรา พ่อรำ รำรึรำ พ่อรำ มหาหงส์ลงต่ำ ต่างคนต่างรำไปเอย (ลูกคู่รับ)
ชาย ร่อนกันเถิดนางเอย เอยรา แม่ร่อน ร่อนรึร่อน แม่ร่อน (ชะฉ่า ชะฉ่า ชาชาๆๆๆๆๆ) รูปร่างเหมือนนางระบำ แม่เอ๋ยช่างรำ แม่คุณช่างร้อน อ้อนแอ้นแขนอ่อน รูปร่างเหมือนมอญรำเอย (ลูกคู่รับ)
หญิง ร่อนกันเถิดนายเอย เอยรา พ่อร่อน ร่อนรึร่อน พ่อร่อน สีนวลอ่อน ร่อนแต่ลงบนเอย (ลูกคู่รับ)
ฯลฯ
ที่มา : มรกต งามภักดี. (2543). ราชบุรี. กรุงเทพฯ : บริษัท ต้นอ้อ 1999 จำกัด.

ไม่มีความคิดเห็น: