วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

พระพิมพ์ภาพพระพุทธรูปปางสมาธิ-โบราณวัตถุสมบัติชิ้นสำคัญของชาติที่ราชบุรี


โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เป็นหลักฐานอันแสดงถึงความรุ่งเรืองของชาติที่บรรพชนไทยได้สั่งสมสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ในสมัยที่นายอารักษ์ สังหิตกุล เป็นอธิบดีกรมศิลปากร ได้จัดทำหนังสือ "โบราณวัตถุที่เป็นสมบัติชิ้นสำคัญของชาติ" เมื่อปี พ.ศ.2547 ซึ่งรวบรวมไว้ 69 รายการ พระพิมพ์ภาพพระพุทธรูปปางสมาธิ ที่จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติราชบุรี นับเป็นโบราณวัตถุที่เป็นสมบัติสำคัญของชาติลำดับที่ 15 ใน 69 รายการนั้น โดยมีรายละเอียด ดังนี้
เลขทะเบียนวัตถุ 235/2533 เลขเดิม 7/2534
แบบศิลปะ/สมัย ทวารวดี พุทธศตวรรษที่ 12-14
วัสดุ (ชนิด) หินชนวนสีขาว-เทา
ขนาด สูง 10 เซนติเมตร กว้าง 7 เซนติเมตร
ประวัติความเป็นมา ขุดพบภายในเจดีย์หมายเลข 1 เมืองโบราณคูบัว ต.คูบัว อ.เมือง จ.ราชบุรี
สถานที่จัดแสดง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี จ.ราชบุรี
ลักษณะและสภาพของโบราณวัตถุ
พระพิมพ์สลักจากหินชนวนเป็นภาพพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบ พระหัตถ์แสดงปางสมาธิ ประทับอยู่ภายใต้พระกลดหรือฉัตรขนาบด้วยพระสถูปด้านขวา และธรรมจักรตั้งอยู่บนเสาสูงด้ายซ้าย นับเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะการตั้งธรรมจักรในสมัยทวารวดี ซึ่งพบอยู่ทั่วไปในเมืองโบราณสมัยทวารวดี ในภาคต่างๆ ของประเทศไทย
คุณค่าที่เสนอให้เป็นโบราณวัตถุที่เป็นสมบัติชิ้นสำคัญของชาติ
เป็นโบราณวัตถุที่มีคุณค่าโดดเด่นทางด้านศิลปะที่มีอยู่เพียงชิ้นเดียวในประเทศ จึงหาได้ยาก และกล่าวได้ว่ามีคุณค่าทางวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีสมัยประวัติศษสตร์

โบราณสถานหมายเลข 1 ริมห้วยคูบัว เมืองโบราณคูบัว อ.เมือง จ.ราชบุรี
ที่มา :
สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ. (2547). โบราณวัตถุที่เป็นสมบัติชิ้นสำคัญของชาติ. กระทรวงวัฒนธรรม กรมศิลปากร : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. (หน้า 48-49).

ไม่มีความคิดเห็น: