วันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เจดีย์ท่าน้ำ วัดมหาธาตุ ราชบุรี

เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง วัดเพลง (ร้าง)
ตั้งอยู่ข้างศาลเจ้าพ่อเขาตก
เขตวัดมหาธาตุวรวิหาร อ.เมือง จ.ราชบุรี
ถนนที่เห็นชื่อว่า "ถนนอยุธยา" เป็นถนนเชื่อมจาก
เจดีย์ท่าน้ำ (ที่เห็น) - มายังองค์พระปรางค์ของวัด
(เมื่อก่อนเรียกเจดีย์ท่าน้ำ เพราะตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง)
เจดีย์ท่าน้ำ วัดมหาธาตุ ราชบุรี ที่เห็นอยู่ในภาพนี้ เป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง  ซึ่งผมเห็นมาตั้งแต่เกิด อยู่ข้างๆ บ้านผมนี้เอง คือ ตั้งอยู่ในเขตบริเวณวัดมหาธาตุวรวิหาร อ.เมือง จ.ราชบุรี สูงตระหง่านอยู่ข้างศาลเจ้าพ่อเขาตก (ตัวศาลเจ้าพ่อเขาตก สร้างขึ้นในภายหลัง)  ตอนนั้นผมไม่เคยทราบเรื่องราวเกี่ยวกับเจดีย์องค์นี้เลยว่า ที่จริงแล้ว คือโบราณสถานสำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดราชบุรี  สมัยตอนเด็กๆ พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ทั้งลุงป้าน้าอา บอกว่า ห้ามไปเล่นแถวเจดีย์นี้ เพราะมีป่ารกทึบและมีผีเฝ้าเจดีย์อยู่มาก  เด็กๆ หลายคนไปเล่นแล้วกลับมาเป็นไข้ตัวร้อน ต้องกินน้ำปัสสาวะของพี่น้องด้วยกันเป็นยาถึงจะหายจากไข้ 

ในหนังสือหลายเล่มบอกว่า เจดีย์นี้เป็นเจดีย์ซึ่งอยู่ในบริเวณ "วัดเพลง" (วัดเพลง เดิมเรียก "วัดเพรง" หมายถึงวัดเก่าแก่ ต่อมาเรียกเพี้ยนไปเป็น "เพลง") ซึ่งวัดเพลงนี้ นายมานิต วัลลิโภดม อดีตหัวหน้ากองโบราณคดี กรมศิลปากร ได้บันทึกไว้อีกชื่อหนึ่งว่า "วัดโพธิ์เขียว"  เขาบอกว่าเป็นวัดร้างอยู่ติดกับวัดมหาธาตุนี้เอง  แต่ผมก็เกิดมาก็ไม่เคยเห็นวัดเพลงที่ว่านี้เลย  เจดีย์นี้ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของบ้านท่าเสา ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จ.ราชบุรี  (แต่บันทึกบางแห่งบอกว่า บ้านท่าแจ บางแห่งก็บอกว่า ตำบลหลุมดิน) (ดูที่ตั้งและพิกัดจริง)  เมื่อก่อนเป็นเจดีย์ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง เลยเรียกว่า "เจดีย์ท่าน้ำ"  แต่ตอนนี้อยู่ห่างจากฝั่งมาก เพราะทางน้ำเกิดการเปลี่ยนแปลง


เจดีย์องค์นี้กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดค้นใน พ.ศ.2497 ผลการขุดพบว่า เป็นเจดีย์รูปสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง สภาพชำรุดยอดหักเหลือเพียงชั้นบัลลังก์ องค์เจดีย์แตกร้าวมีรอยขุดเจาะหลายแห่ง โบราณวัตถุที่พบ ได้แก่ แผ่นหินทรายสีแดงจำหลักพระพุทธรูปปางสมาธิในซุ้มเรือนแก้วทั้งสองด้าน  ลักษณะคล้ายกับพระพุทธรูปบนกำแพงวัดมหาธาตุ  หินทรายแดงสลักพระพุทธรูปนี้ ตั้งอยู่บนก้อนแลงสี่เหลี่ยมขนาด 38.05X45X2 เซนติเมตร  มีรอยยาปูนผนึกไว้ เมื่อเซาะเปิดก้อนแลงออก พบว่ากลางก้อนแลงเป็นหลุมบรรจุผอบทองคำ ภายในผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุจนาดเมล็ดพันธุ์ผักกาด 3 องค์ (ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดมหาธาตุ) และยังพบโบราณวัตุอื่นๆ อีก เช่น ชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายแดง เศษภาชนะดินเผาฯ


เกี่ยวกับโบราณวัตถุที่พบ ณ เจดีย์แห่งนี้ ยังมีการบันทึกเล่มอื่นๆ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกัน แต่ในรายละเอียดบางอย่างไม่ตรงกัน เช่น เจดีย์นี้เป็นลักษณะก่ออิญถือปูน เหลือเฉพาะองค์ระฆัง ภายในกรุเจดีย์พบผอบทองคำหรือสุวรรณกรัณฑ์รูปทรงกระบอกมีฝาจุกรูปดอกบัวตูม ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุร่วมกับแก้ว หินมีค่า แผ่นพระพิมพ์ทองคำและเงินเป็นภาพพระพุทธรูปปางมารวิชัยประทับในซุ้มเรือนแก้ว โดยทั้งหมดบรรจุอยู่ภายในหลุมกลางก้อนศิลารูปสี่เหลี่ยมอีกชั้นหนึ่ง  นอกจากนี้ยังพบแผ่นพระพิมพ์ทองคำดุนภาพพระพุทธรูปประทับประทับยืนปางอภัย  พร้อมกับแผ่นทองคำบางๆ ตัดเป็นรุปช้าง ม้า และเต่า คล้ายกับที่พบในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาในสมัยอยุธยาตอนต้น ปัจจุบันโบราณวัตถุล้ำค่าเหล่านี้เก็บรักษาอยู่ที่วัดมหาธาตุราชบุรี


จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า โบราณวัตถุที่พบและได้รับการบันทึกไว้ อาจจะมีความแตกต่างกันในรายละเอียดบางประการ แต่อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ระบุตรงกันคือเก็บรักษาไว้ที่ วัดมหาธาตุวรวิหาร อ.เมือง จ.ราชบุรี ดังนั้น ท่านผู้อ่านสามารถค้นคว้าเพิ่มเติมได้ตรงที่วัดมหาธาตุ  ราชบุรี  ว่า "จริงๆ แล้ว มีอะไรบ้างที่พบ"


ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของเจดีย์วัดเพลง (ร้าง) เป็นสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา  กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ และกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 112 ตอนพิเศษ 39 ง วันที่  6 ตุลาคม พ.ศ.2538


********************************************************

อ่านเพิ่มเติม วัดมหาธาตุวรวิหาร

ที่มาข้อมูล
  • มานิต  วัลลิโภดม. (2531). "การขุดค้นพระบรมสารีริกธาตุ" , วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 14 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มีนาคม 2531). (หน้า 51)
  • คณะกรรมการอำนวยการโครงการจัดทำหนังสือ เรื่อง "วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญา". (2543). หนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดราชบุรี. กรมศิลปากร : องค์การค้าของคุรุสภา. (หน้า 63,117-118) (ดูภาพหนังสือ
อ่านต่อ >>

วันพุธที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ตำนานลิเกราชบุรี ตอนที่ 3

ต่อจาก ตำนานลิเกราชบุรี ตอนที่ 2

นายสมศักดิ์  ภักดี
ฉายา ลิเกเงินล้าน
สมศักดิ์ ภักดี  ลิเกเงินล้าน
ที่มาของภาพ
 http://bbznet.pukpik.com/

นายสมศักดิ์ฯ เป็นชาว อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี เดิมเคยเล่นลิเกคณะดำเนิน ศิลปิน ต่อมาได้แยกตัวออกไปตั้งคณะลิเกสมศักดิ์  ภักดี ได้เป็นผู้ริเริ่มเปลี่ยนการแต่งตัวของลิเกจากเสื้อกั๊กมาเป็นเสื้อคอลึกแขนยาวโปร่งเป็นตะแกรงปักเพชรพราว  เรียกว่า เสื้อดักแมงดา  ใส่เครื่องประดับศีรษะเกี้ยวยอดเรียกว่า หัวมอญ เปลี่ยนจากผ้านุ่งจากจีบโจงตีปีกสูงมากมาเป็น นุ่งมอญ คือข้างขวานุ่งโจงหาง ข้างซ้ายห้อยชาย  โดยจีบหน้านางเล็กๆ นอกจากนี้ยังนำเพลงลูกทุ่งเข้ามาประกอบการแสดงลิเก  พร้อมทั้งใช้กลองชุดของดนตรีสากลเพื่อเพิ่มความสนุกสนานให้ผู้ชม  ซึ่งเป็นต้นฉบับของ ลิเกลูกทุ่ง

ลิเกโทรทัศน์  คณะสมศักดิ์  ภักดี แสดงที่สถานีวิทยุโทรทัศน์ช่อง 9 เป็นพระเอกลิเกที่มีผู้นิยมมากที่สุด และได้รับการยกย่องว่าเป็น ลิเกเงินล้าน ต่อมาอาจารย์เสรี  หวังในธรรม  กรมศิลปากร ได้เชิญสมศักดิ์  ภักดี ร่วมแสดงในรายการ ศรีสุนาฎกรรม ณ โรงละครแห่งชาติ  เมื่อวันที่  19 พฤษภาคม พ.ศ.2518 จึงทำให้สมศักดิ์  ภักดี   ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี  และแสดงออกรายการโทรทัศน์ช่อง 9 อ.ส.ม.ท.ทุกวันเสาร์เวลา 17:00-18:00 น. โดยมีวิญญู   จันทร์เจ้า และนพคุณ  ทานอุทิศ เป็นแกนนำสำคัญที่รวบรวมพระเอกและนางเอกลิเก มาแสดงรายการโทรทัศน์

นายสำราญ  เดชนวม
เป็นโต้โผลิเก คณะสำราญ  สุขอารมณ์  เป็นชาวพิจิตร ได้ฝึกหัดเล่นลิเกตั้งแต่อายุ 18 ปี จากครูบุญธรรม  ศรีปัญญา คณะบุญธรรม  ศรีปัญญา ซึ่งเป็นลิเกพิจิตร  นายสำราญ  เดชนวม ได้อพยพเข้ามาเล่นลิเกอยู่ใน อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เมื่อ พ.ศ.2500 และแต่งงานอยู่กินกับสาวชาวบ้านโป่ง  ตั้งคณะลิเกสำราญ  สุขอารมณ์  ท่านได้ถ่ายทอดศิลปะการแสดงด้านลิเกแก่ลูกศิษย์หลายรุ่นจนได้รับการยกย่องจากลูกศิษย์ว่า เป็นครูลิเกที่มีความสามารถด้านกลอนหรือเพลงลิเกเป็นเลิศ คณะลิเกผู้แสดงที่สร้างชื่อเสียงได้แก่  คณะประทีป  ทวนทอง, จรินทิพย์   เสียงทอง, ราชัน  ลูกชินราช,  ราเชน   ลูกชินราช และอำพร  สิทธิพันธ์  เป็นต้น 

******************************************

เรื่องราวของฉากลิเก
ฉากลิเก เป็นฉากผ้าดิบที่จิตรกรได้จินตนาการรังสรรค์ภาพ จำลองบรรยากาศตามท้องเรื่องออกมาเป็นภาพท้องพระโรง สวน  อุทยาน ป่าเขาลำเนาไพร และภาพวิถีชีวิตชนบท เป็นต้น การเขียนจะเขียนเป็นภาพสามมิติ มีความลึก ตรงกลางฉากจะเป็นจุดสุดสายตา เพื่อเสริมตัวลิเกหน้าเวทีให้เด่นขึ้น และสมจริงตามจินตนาการของผู้ดู

ร้านเชาว์ศิลป์
เป็นร้านเดียวของ อ.บ้านโป่ง ที่รับจ้างเขียนฉากลิเก ละคร และโนราห์ ตั้งอยู่ริมถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 ต.บ้านโป่ง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี โดยมีนายสุเชาว์  แผนคุ้ม เป็นผู้จัดการและเจ้าของ ซึ่งเขาได้เรียนรู้จากประสบการณ์โดยตรง เริ่มต้นจากเด็กล้างพู่กันในร้านรับเขียนป้ายและภาพวิวข้างรถบัสและรถสิบล้อ เมื่ออายุได้ประมาณ 7-8 ขวบ จากประสบการณ์ที่ได้เริ่มหัดเขียนฉากลิเกและเขียนป้ายโฆษณาตามวิกเมื่ออายุ 17 ปี และต่อมาได้เปิดร้านเชาว์ศิลป์เป็นของตนเองเมื่อ พ.ศ.2539

ฉากลิเก
ที่มาของภาพ http://www.learners.in.th/

ขั้นตอนการเขียนฉากลิเก
ฉากลิเกทำจากการนำผ้าดิบมาเย็บติดกันเป็นผืนใหญ่  โดยทั่วไปมีขนาด 4.50X3.20 เมตร เขียนด้วยสีพลาสติก ฉาก 1 ชุดจะประกอบด้วยฉากใหญ่ 1 ผืน ฉากหลืบ 1 คู่ ป้ายชื่อคณะทำเป็นระบาย 1 ผืน และหน้าเตียง 1 ผืน (ผ้าที่ใช้ปิดหน้าเตียงลิเก ส่วนมากเขียนลายหน้าสิงห์ และบัวคว่ำ บัวหงาย) ฉากผืนใหญ่ที่เป็นฉากหลักส่วนมากจะเขียนภาพท้องพระโรง  ส่่วนฉากประกอบจะเป็นภาพอุทยาน  ป่า และภาพชนบท  ลิเกที่เล่นฉากจะใช้ฉากประกอบมาก  แต่หากเป็นลิเกเวทีลอยฟ้า จะเปลี่ยนเป็นฉากหลัง 2 ผืน มีขนาดสูง 2-3 เมตร ยาว 10-12 เมตร ส่วนหลืบข้าง ใช้ไม้อัดเขียนลายซุ้มประตู ราคาฉากต่อชุดประมาณ 6,000-12,000 บาท (ราคาเมื่อปี พ.ศ.2543)  แล้วแต่ขนาด และความยากง่ายของลวดลายที่เขียน  ลูกค้าที่มาสั่งทำฉากส่วนมากเป็นคณะลิเกในจังหวัดราชบุรีและจังหวัดใกล้เคียง เช่น นครปฐม สุพรรณบุรี  กาญจนบุรี  กรุงเทพฯ เพชรบุรี  ชลบุรี และพัทลุง เป็นต้น

***************************************************************

อ่านเพิ่มเติม ภาพชุดลิเกเด็กบ้านโป่ง "คณะยิ่งรัก อารีพร"

ที่มาข้อมูล
คณะกรรมการอำนวยการโครงการจัดทำหนังสือ เรื่อง "วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญา". (2543). หนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดราชบุรี. กรมศิลปากร : องค์การค้าของคุรุสภา. (หน้า 170-180) (ดูภาพหนังสือ)
อ่านต่อ >>

ตำนานลิเกราชบุรี ตอนที่ 2

ต่อจาก ตำนานลิเกราชบุรี ตอนที่ 1

คณะลิเกยิ่งรัก  อารีพร
ลิเกเด็กและเยาวชน แห่ง อ.บ้านโป่ง
ในปัจจุบัน ที่ยังพอมีสืบทอดอยู่บ้าง
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม
นางสอย  ทรงแสง (สีสกุล)
เป็นบุตรีของนางทองดี  สีสกุล  ได้รับการฝึกหัดสืบทอดศิลปะการแสดงด้านละคร และลิเกมาจากมารดา และเป็นโตโผลิเกคณะ "ศิลป์สงเสริม" และฝึกหัดลูกหลานเล่นลิเกจนเกิดคณะลิเกหลายคณะ  เช่น อุดมศิลป์ ราชศักดิ์,อุดมศักดิ์วัยรุ่น และลูกหลานบางคนได้อาศัยพื้นฐานเล่นลิเกไปจัดตั้งคณะตลกได้แก่ คณะตลก "ชวนชื่น" มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วประเทศ

นางทองคำ   สีสกุล
นางทองคำฯ มีชีวิตอยู่ระหว่างปี พ.ศ.2450-2525 ชาวบ้านเรียกนางทองคำฯ ว่า "ป้าดำ" เป็นบุตรสาวของนางทองดี  สีสกุล เป็นศิลปินผู้สืบทอดศิลปะการแสดงโขน ละคร ลิเก และดนตรีไทยจากมารดา ระหว่างอายุ 13-18 ปี ได้มีโอกาสเข้าไปศึกษาหาความรู้ด้านการแสดงโขน ละคร และลิเกจากกรุงเทพฯ เมื่ออายุได้ราว 15 ปี ได้มีโอกาสแสดงละครหน้าพระที่นั่งถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 จนเป็นที่พอพระราชหฤทัย ทรงชมว่า "เธอแสดงได้ดีมาก" และพระราชทานกระบี่ พระธำมรงค์  และเหรียญตรา ให้เป็นที่ระลึกซึ่งนางทองคำ  สีสกุล ได้ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณครั้งนี้เป็นอย่างมาก  และเล่าขานให้ลูกหลานฟังอย่างภาคภูมิใจ 

เมื่ออายุได้ 18 ปี ได้กลับไปอยู่กับมารดาที่บ้านโป่ง หาเลี้ยงชีพโดยการเล่นโขน  ละคร และลิเก และเป็นโต้โผคณะลิเก "ทองคำ ดำรงศิลป์" แสดงเป็นนางเอก  นับเป็นคณะลิเกที่มีชื่อเสียงมากคณะหนึ่งในขณะนั้น  ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี นางทองคำ  สีสกุล ได้สอบผ่านความรู้ด้านนาฎศิลป์จากกรมศิลปากร ได้บัตรประจำตัวเทียบเท่าศิลปิน  ได้สิทธิเล่นลิเกอาชีพได้

นางทองคำ  สีสกุล จัดเป็นศิลปินองค์แห่งความรู้ด้านศิลปะการแสดงโขน  ละคร ลิเก และดนตรีไทย โดยแท้ ท่านได้ฝึกหัดลิเกแก่ลูกหลานหลายรุ่น และศิษย์บางคนยังคงเล่นลิเกเป็นอาชีพจนถึงปัจจุบัน เช่น คณะบุนนาค  ทองคำศิลป์ และคณะอรวรรณ นาฎศิลป์

ต่อมานายบุญนาค  แสงใส หัวหน้าคณะลิเกบุญนาค ทองคำศิลป์ ศิษย์เอกของแม่ทองคำ  สีสกุล ได้สืบทอดและฝึกหัดลิเกตั้งแต่รุ่นเด็กถึงรุ่นใหญ่ มีลูกศิษย์ออกไปตั้งคณะลิเกสร้างชื่อเสียงให้แก่ อ.บ้านโป่ง หลายคณะ เช่น คณะน้ำผึ้ง เดือนเพ็ญ, สมพร ศิษย์เมธา,  จ๊ะเอ๋ เมธา, สุนันท์  จันทรา เป็นต้น

นางสาลี่  ทองอยู่
เป็นธิดาของนายลับ และนางละม่อม  สุนทร ชาวเพชรบุรี บิดามารดาเป็นศิลปินละครเมืองเพชรที่มีชื่อเสียง มารดาเคยเล่นละครถวายหน้าพระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6  และได้รับพระราชทานนาวมสกุล "สุนทร" นางสาลี่  ทองอยู่  ได้ฝึกหัดละครตั้งแต่อายุ 13-14 ปี เมื่อบิดาเสียชีวิตจึงได้อพยพมาตั้งรกรากทำมาหากินอยู่ใน อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี โดยเล่นละครและลิเกเป็นอาชีพหลัก ต่อมาได้แต่งงานอยู่กินกับนายเขียว  สีสกุล บุตรชายคนสุดท้องของนางทองดี   สีสกุล  ซึ่งมีความสามารถด้านการเล่นลิเก  และเล่นระนาคในวงปี่พาทย์ ต่อมาภายหลังได้แต่งงานใหม่กับนายสง่า ทองอยู่ เมื่อ พ.ศ.2500 และได้ตั้งคณะลิเก "สาลี่ศรีสง่า"  นับเป็นลิเกที่มีชื่อเสียงคณะหนึ่งของจังหวัดราชบุรี  และนางสาลี่ ทองอยู่ ได้ฝึกหัดลิเกแก่บุตรหลานจนเกิดคณะลิเกขึ้นใหม่ใน อ.บ้านโป่ง หลายคณะ เช่น คณะสมชาย  บุตรสำราญ, เพชร น้ำหนึ่ง, เนตรดาว  บุตรสำราญ, สาลิกา  สายัณห์ เป็นต้น

นายทองเคลิ้ม   คล้ายพันธุ์
เป็นลูกหลานลิเกชาวบ้านโป่งโดยแท้ ได้เริ่มฝึกหัดลิเกเมื่ออายุได้ 13 ปี จากบิดา มารดา และนางสำลี  สว่างเมฆ ผู้เป็นป้า เมื่อ พ.ศ.2489 อายุได้ 15 ปี  ได้เล่นลิเกเป็นพระเอก  "คณะ อ.แสงจันทร์"   ต่อมาได้ตั้งคณะลิเกเป็นของตนเองชื่อ "ทองเคลิ้ม  เสริมศิลป์" เคยเล่นลิเกร่วมกัยสมศักดิ์  ภักดี  คณะดำเนินศิลปิน ออกอากาศทางสถานีวิทยุ 012 กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม และสถานีวิทยุ 07 จันทบุรี

นายเคลิ้ม คล้ายพันธุ์ ได้ฝึกหัดลิเกให้ลูกศิษย์ลูกหลานอย่างต่อเนื่องหลายรุ่น  บางรุ่นออกไปตั้งคณะลิเกทำมาหากินจนมีชื่อเสียง เช่น บุญเลิศ  กังวาลศิลป์, สมรักษ์  รุ่งเรืองศิลป์   และพระเอกนางเอกในสังกัดคณะทองเคลิ้ม  เสริมป์ศิลป์ ที่มีชื่อเสียงเช่นกัน  เช่น เพชร  ไพรินทร์, ขวัญนภา  เสริมศิลป์,  รุ่ง  ดารา,  เอกชัย   เพชรไพฑูรย์ และทรงพล  ดาวรุ่ง เป็นต้น

นางลำใย   วงศ์พิชิต
มีชีวิตอยู่ระหว่าง ปี พ.ศ.2470-2522 ฉายา "ราชาละครเร่" นางลำใยฯ เดิมเป็นชาวจังหวัดอ่างทอง ฝึกหัดเล่นลิเกครั้งแรกกับครูสันโดษ  และเล่นลิเกเป็นอาชีพ   ต่อมาได้ย้ายภูมิลำเนามาหากินในเขต อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี  และตั้งคณะลิเก " สหายศิลปิน 1" โดยตนเองเป็นโต้โผและเล่นเป็นพระเอกประจำคณะ จนมีชื่อเสียงรู้จักทั่วไปในเขตจังหวัดราชบุรี  เพชรบุรี  นครปฐม และชุมพร เป็นต้น เมื่อเล่นประชันกับคณะอื่นมักชนะเสมอ และเกิดคณะลิเกสหายศิลปิน 2 และ 3 เพื่อรองรับความต้องการของเจ้าภาพที่จัดหาไปแสดง

ต่อมาได้ยุบคณะลิเกสหายศิลปิน 1 ลงเพราะคณะลิเกมีจำนวนมากขึ้น การแข่งขันสูง และรายได้ไม่ดีเท่าที่ควร จึงหันไปเล่นละครเวทีสมัยใหม่ในรูปแบบ ละครเร่ โดยเร่ปิดวิกเก็บสตางค์จากผู้ชมไปตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ โดยได้แนวคิดจากการชมละครเวที คณะ ร.ลูกไทย ที่ จ.พิษณุโลก และเกิดความประทับใจ  และตัดสินใจเปลี่ยนการแสดงลิเกมาเป็นละครเวที ปรากฏว่าได้รับการตอบรับจากผู้ชม แฟนละครเป็นอย่างดี เพราะคณะละครเวทีมีน้อยทำให้มีรายได้ดีขึ้น และสามารถสร้างตัวได้มั่นคง จนได้รับฉายาว่า "ราชาละครเร่ คุณลำใย" นางลำใยได้แสดงละครเร่ครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ.2522 ในงานนมัสการพระฉาย วัดดอนตูม อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ถึงแก่กรรมเมื่ออายุเพียง 52 ปี โดยมีนางประยูร  วงศ์พิชิต และนางพเยาว์  วงศ์พิชิต บุตรสาวคนโตและคนรอง เป็นหัวหน้าคณะแทน และนำละครเร่ออกแสดงจนถึง พ.ศ.2527 จึงได้ยุบคณะลงเนื่องจากหาตัวศิลปินผู้แสดงยาก และเป็นงานที่เหนื่อยที่ต้องเร่ออกตามสถานที่ต่างๆ ผู้แสดงไม่มีเวลาเป็นของตนเอง ปัจจุบันลูกหลานได้หันไปประกอบอาชีพรับจ้างฉายภาพยนตร์กลางแปลง และปิดวิกแทน

*****************************************************

อ่านต่อ ตำนานลิเกราชบุรี ตอน 3

ที่มาข้อมูล
คณะกรรมการอำนวยการโครงการจัดทำหนังสือ เรื่อง "วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญา". (2543). หนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดราชบุรี. กรมศิลปากร : องค์การค้าของคุรุสภา. (หน้า 170-180) (ดูภาพหนังสือ)
อ่านต่อ >>

ตำนานลิเกราชบุรี ตอนที่ 1

คำกล่าวที่ว่า "ดูลิเกไปวัดคงคา ได้วิชาไปวัดป่า(ไผ่) ฟังเทศน์ไปวัดบ้านหม้อ" (อ่านรายละเอียด)  สะท้อนให้เห็นว่าที่วัดคงคาราม อ.โพธาราม จ.ราชบุรี คงมีลิเกมาเล่นบ่อย คณะลิเกสมัยก่อนคงมีกันหลายคณะ แต่คณะที่โด่งดังจนเป็นความทรงจำที่เล่าสืบกันมา คือ คณะของตาเชื้อยายนิ่ม แห่งชุมชนโพหัก ราชบุรี

ลิเก หรือที่เรียกว่า ยี่เก เป็นการแสดงพื้นบ้านที่เป็นมรดกตกทอดของสังคมไทยมาช้านาน นิยมเล่นกันในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้มีคณะลิเกคณะหนึ่งที่ดีที่สุดในสมัยนั้น คือ คณะดอกดิน เสือสง่า (พ.ศ.2401-2477) เป็นคณะแรกของเมืองไทยที่เล่นเป็นแบบชายจริงหญิงแท้ โดยมีนางละออง  เสือสง่า บุตรสาวเล่นเป็นตัวนางประจำคณะ นายดอกดิน เสือสง่า ยังเป็นต้นตำหรับของกลอนลิเก หรือเพลงรานิเกริง ที่นิยมนำมาร้องจนถึงทุกวันนี้

ในพื้นที่จังหวัดราชบุรีและจังหวัดใกล้เคียง  อำเภอบ้านโป่งของเราเป็นย่านที่มีคณะลิเกเข้ามาตั้งหลักแหล่งมากที่สุดกว่า 40 คณะ ลิเกได้รับความนิยมเผยแพร่อย่างรวดเร็ว เพราะแต่งตัวสวยงามสมจริง เล่นได้ทั้งโศกเศร้าตลกขบขัน เดินเรื่องได้รวดเร็วทันใจมากกว่าโขน ละคร จึงทำให้บรรดาคณะโขน ละครที่มีอยู่ในขณะนั้นเปลี่ยนอาชีพมาเล่นลิเกมากขึ้น ศิลปินลิเกที่มีชื่อเสียงของอำเภอบ้านโป่งหลายคนมีพื้นฐานการแสดงมาจากโขน และละครเป็นส่วนใหญ่ อาทิ

พระราชวรินทร์ (กุหลาบ  โกสุม)
พระราชวรินทร์ (กุหลาบ โกสุม) นี้เป็นชาวสวนกล้วย อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เป็นบุตรของหลวงกมล  ภักดี (บัว โกสุม) และนางอิน โกสุม รับราชการในกรมมหรสพ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6  มีความเชี่ยวชาญเรื่องดนตรีไทย การตีระนาดเอก เล่นโขนแสดงเป็นตัวทศกัณฑ์  ชำนาญบทเกี้ยวนางสีดา ตอนทศกัณฐ์ลงสวน และเก่งการเล่นละครออกภาษาลาวเพราะชำนาฐมาจากลิเก จนเป็นที่โปรดปราน และได้พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "พระราชวรินทร์"  และได้รับพระราชทานเครื่องปี่พาทย์เครื่องใหญ่ 1 ชุด พร้อมเรือนไม้สักทรงไทย 1 หลัง ต่อมาได้ทูลเกล้าฯ ถวายบรรดาศักดิ์คืนและออกมาเล่นโขนลิเกเป็นการส่วนตัว

ขุนแก้ว  กัทฑลีเขตร์ (แก้ว  โกสุม)
ขุนแก้วฯ นี้มีชีวิตระหว่างปี พ.ศ.2423-2503 เป็นบุตรชายคนโตของหลวงกมล ภักดี และเป็นพี่ชายของพระราชวรินทร์  รับราชการในกรมมหรสพเช่นเดียวกับพระราชวรินทร์ มีความสามารถด้านการแสดงโขนเป็นตัวทศกัณฐ์  ต่อมาได้สมรสกับนางเชื้อ โกสุม (อัคนิทัต) ซึ่งมีความสามารถในการแสดงโขนเป็นตัวพระลักษณ์ และพระราม บุคคลทั้งสองนับเป็นองค์ความรู้ด้านศิลปะการแสดงโขน ละคร ลิเก และดนตรีไทย ได้เป็นครูฝึกหัดลูกหลานชาวบ้านสวนกล้วย อ.บ้านโป่ง ให้สามารถเล่นโขน ละคร และลิเกได้อย่างชำนาญ  โขนละครขุนแก้ว มีชื่อเสียงเป็นที่รู็จักทั่วไปใน จ.ราชบุรี เพชรบุรี และจังหวัดใกล้เคียง โดยใช้ชื่อคณะว่า "บำรุงโบราณนาฎ"

นายประกอบ  โกสุม
นายประกอบฯ มีชีวิตอยู่ระหว่างปี พ.ศ.2466-2539 เป็นบุตรของขุนแก้ว  กัทฑลีเขตร์ (แก้ว  โกสุม) และนางเชื้อ โกสุม เคยรับราชการครู ต่อมาได้ลาออกจากราชการมาเล่นโขน  ละคร และลิเก  เป็นการส่วนตัว ในการแสดงโขนมักเล่นเป็นตัวพระราม คู่กับนางประพิมพ์  อุตสาหะ  ซึ่งเล่นเป็นตัวนางสีดา

คณะบำรุงโบราณนาฎ นายประกอบ โกสุม ได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้ด้านศิลปะการแสดงจากบิดา  มารดา และเป็นครูสอนการแสดงโขน  ละคร ลิเก และดนตรีไทย แก่ลูกหลานบ้านสวยกล้วย ตลอดจนนักเรียนตามสถานศึกษาต่างๆ สามารถครอบครูโขน  ละคร เป็นที่รู้จักกันทั่วไป คณะลิเกรุ่นลูกหลานที่สืบทอดวิชาศิลปะการแสดงจากครูประกอบ โกสุม ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักได้แก่ คณะอุดมพรวัยรุ่น โดยมีชวลิต  อิ่มทรัพย์ เป็นพระเอกและแสดงร่วมกับคณะลิเกสมศักดิ์  ภักดี พระเอกลิเกเงินล้าน ลิเกโทรทัศน์ช่อง 9 นอกจากนี้ยังมีคณะนพดล  หลานอุดมพร และคณะประทีป ทวนทอง เป็นต้น

นางทองดี  สีสกุล
นางทองดีฯ มีชีวิตอยู่ระหว่างปี พ.ศ.2421-2518 มีชื่อเล่นว่า "ดี่" เป็นชาวตำบลบางช้าง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม  ต่อมาได้พาครอบครัวอพยพมาทำมาหากินด้านการแสดงโขน ละครในเขตอำเภอบ้านโป่ง  นางดี่ สีสกุล นับเป็นศิลปินชั้นครู เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถทั้งด้านการแสดงโขน  ละคร และลิเก ได้ถ่ายทอดศิลปะการแสดงโดยเฉพาะลิเกให้แก่บุตรหลานได้ยึดเป็นอาชีพทำกินจนถึงทุกวันนี้

นางยุพิน  เสือสง่า
โต้โผลิเกคณะยุพิน เสือสง่า เป็นบุตรสาวคนสุดท้องของนายดอกดิน  เสือสง่า (คณะลิเกที่ดีที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 6) ได้มาแสดงประจำที่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี และได้สมรสกับ นายสนิท สีสกุล บุตรชายของนางทองดี  สีสกุล ซึ่งมีความสามารถด้านการตีระนาด นางยุพินฯ จึงเป็นสะใภ้ของ อ.บ้านโป่ง นางยุพิน เสือสง่า ได้ฝึกหัดลูกศิษย์หลายรุ่นออกไปตั้งคณะลิเกเรียกว่า "ศิษย์เสือสง่า"

***************************************

อ่านต่อ ตำนานลิเกราชบุรี ตอนที่ 2

ที่มาข้อมูล
คณะกรรมการอำนวยการโครงการจัดทำหนังสือ เรื่อง "วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญา". (2543). หนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดราชบุรี. กรมศิลปากร : องค์การค้าของคุรุสภา. (หน้า 170-180) (ดูภาพหนังสือ)

อ่านต่อ >>

วันอังคารที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

พระปรางค์ วัดอรัญญิกาวาส


พระปรางค์วัดอรัญญิกาวาส
ต.เจดีย์หัก อ.เมือง จ.ราชบุรี

สร้างเมื่อปี พ.ศ.2030-2035
เป็นเจดีย์ 5 องค์แบบบัวผันสร้างไว้ 4 มุมรอบพระปรางค์
ซึ่งปัจจุบันเหลือทางทิศใต้เท่านั้น ลักษณะเป็นหินทราย

ผู้สร้าง ขุนหาญ บุญไทย

บูรณะครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2425-2440 จึงแล้วเสร็จ

อ่านต่อ >>