วันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เจดีย์ท่าน้ำ วัดมหาธาตุ ราชบุรี

เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง วัดเพลง (ร้าง)
ตั้งอยู่ข้างศาลเจ้าพ่อเขาตก
เขตวัดมหาธาตุวรวิหาร อ.เมือง จ.ราชบุรี
ถนนที่เห็นชื่อว่า "ถนนอยุธยา" เป็นถนนเชื่อมจาก
เจดีย์ท่าน้ำ (ที่เห็น) - มายังองค์พระปรางค์ของวัด
(เมื่อก่อนเรียกเจดีย์ท่าน้ำ เพราะตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง)
เจดีย์ท่าน้ำ วัดมหาธาตุ ราชบุรี ที่เห็นอยู่ในภาพนี้ เป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง  ซึ่งผมเห็นมาตั้งแต่เกิด อยู่ข้างๆ บ้านผมนี้เอง คือ ตั้งอยู่ในเขตบริเวณวัดมหาธาตุวรวิหาร อ.เมือง จ.ราชบุรี สูงตระหง่านอยู่ข้างศาลเจ้าพ่อเขาตก (ตัวศาลเจ้าพ่อเขาตก สร้างขึ้นในภายหลัง)  ตอนนั้นผมไม่เคยทราบเรื่องราวเกี่ยวกับเจดีย์องค์นี้เลยว่า ที่จริงแล้ว คือโบราณสถานสำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดราชบุรี  สมัยตอนเด็กๆ พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ทั้งลุงป้าน้าอา บอกว่า ห้ามไปเล่นแถวเจดีย์นี้ เพราะมีป่ารกทึบและมีผีเฝ้าเจดีย์อยู่มาก  เด็กๆ หลายคนไปเล่นแล้วกลับมาเป็นไข้ตัวร้อน ต้องกินน้ำปัสสาวะของพี่น้องด้วยกันเป็นยาถึงจะหายจากไข้ 

ในหนังสือหลายเล่มบอกว่า เจดีย์นี้เป็นเจดีย์ซึ่งอยู่ในบริเวณ "วัดเพลง" (วัดเพลง เดิมเรียก "วัดเพรง" หมายถึงวัดเก่าแก่ ต่อมาเรียกเพี้ยนไปเป็น "เพลง") ซึ่งวัดเพลงนี้ นายมานิต วัลลิโภดม อดีตหัวหน้ากองโบราณคดี กรมศิลปากร ได้บันทึกไว้อีกชื่อหนึ่งว่า "วัดโพธิ์เขียว"  เขาบอกว่าเป็นวัดร้างอยู่ติดกับวัดมหาธาตุนี้เอง  แต่ผมก็เกิดมาก็ไม่เคยเห็นวัดเพลงที่ว่านี้เลย  เจดีย์นี้ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของบ้านท่าเสา ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จ.ราชบุรี  (แต่บันทึกบางแห่งบอกว่า บ้านท่าแจ บางแห่งก็บอกว่า ตำบลหลุมดิน) (ดูที่ตั้งและพิกัดจริง)  เมื่อก่อนเป็นเจดีย์ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง เลยเรียกว่า "เจดีย์ท่าน้ำ"  แต่ตอนนี้อยู่ห่างจากฝั่งมาก เพราะทางน้ำเกิดการเปลี่ยนแปลง


เจดีย์องค์นี้กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดค้นใน พ.ศ.2497 ผลการขุดพบว่า เป็นเจดีย์รูปสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง สภาพชำรุดยอดหักเหลือเพียงชั้นบัลลังก์ องค์เจดีย์แตกร้าวมีรอยขุดเจาะหลายแห่ง โบราณวัตถุที่พบ ได้แก่ แผ่นหินทรายสีแดงจำหลักพระพุทธรูปปางสมาธิในซุ้มเรือนแก้วทั้งสองด้าน  ลักษณะคล้ายกับพระพุทธรูปบนกำแพงวัดมหาธาตุ  หินทรายแดงสลักพระพุทธรูปนี้ ตั้งอยู่บนก้อนแลงสี่เหลี่ยมขนาด 38.05X45X2 เซนติเมตร  มีรอยยาปูนผนึกไว้ เมื่อเซาะเปิดก้อนแลงออก พบว่ากลางก้อนแลงเป็นหลุมบรรจุผอบทองคำ ภายในผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุจนาดเมล็ดพันธุ์ผักกาด 3 องค์ (ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดมหาธาตุ) และยังพบโบราณวัตุอื่นๆ อีก เช่น ชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายแดง เศษภาชนะดินเผาฯ


เกี่ยวกับโบราณวัตถุที่พบ ณ เจดีย์แห่งนี้ ยังมีการบันทึกเล่มอื่นๆ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกัน แต่ในรายละเอียดบางอย่างไม่ตรงกัน เช่น เจดีย์นี้เป็นลักษณะก่ออิญถือปูน เหลือเฉพาะองค์ระฆัง ภายในกรุเจดีย์พบผอบทองคำหรือสุวรรณกรัณฑ์รูปทรงกระบอกมีฝาจุกรูปดอกบัวตูม ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุร่วมกับแก้ว หินมีค่า แผ่นพระพิมพ์ทองคำและเงินเป็นภาพพระพุทธรูปปางมารวิชัยประทับในซุ้มเรือนแก้ว โดยทั้งหมดบรรจุอยู่ภายในหลุมกลางก้อนศิลารูปสี่เหลี่ยมอีกชั้นหนึ่ง  นอกจากนี้ยังพบแผ่นพระพิมพ์ทองคำดุนภาพพระพุทธรูปประทับประทับยืนปางอภัย  พร้อมกับแผ่นทองคำบางๆ ตัดเป็นรุปช้าง ม้า และเต่า คล้ายกับที่พบในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาในสมัยอยุธยาตอนต้น ปัจจุบันโบราณวัตถุล้ำค่าเหล่านี้เก็บรักษาอยู่ที่วัดมหาธาตุราชบุรี


จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า โบราณวัตถุที่พบและได้รับการบันทึกไว้ อาจจะมีความแตกต่างกันในรายละเอียดบางประการ แต่อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ระบุตรงกันคือเก็บรักษาไว้ที่ วัดมหาธาตุวรวิหาร อ.เมือง จ.ราชบุรี ดังนั้น ท่านผู้อ่านสามารถค้นคว้าเพิ่มเติมได้ตรงที่วัดมหาธาตุ  ราชบุรี  ว่า "จริงๆ แล้ว มีอะไรบ้างที่พบ"


ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของเจดีย์วัดเพลง (ร้าง) เป็นสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา  กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ และกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 112 ตอนพิเศษ 39 ง วันที่  6 ตุลาคม พ.ศ.2538


********************************************************

อ่านเพิ่มเติม วัดมหาธาตุวรวิหาร

ที่มาข้อมูล
  • มานิต  วัลลิโภดม. (2531). "การขุดค้นพระบรมสารีริกธาตุ" , วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 14 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มีนาคม 2531). (หน้า 51)
  • คณะกรรมการอำนวยการโครงการจัดทำหนังสือ เรื่อง "วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญา". (2543). หนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดราชบุรี. กรมศิลปากร : องค์การค้าของคุรุสภา. (หน้า 63,117-118) (ดูภาพหนังสือ

1 ความคิดเห็น:

sd กล่าวว่า...

ด้วยความเคารพครับ จากข้อมูลที่นำเสนอ ผมก็เพิ่งทราบนะครับว่ามีเจดีย์อยู่ น่าสนใจมาก ต้องศึกษากันต่อไป จากข้อมูลที่อ่านผมคิดว่าเจดีย์ที่ว่านี้ไม่น่าจะใช่เจดีย์วัดเพรงร้างที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษานะครับ เจดีย์ที่ว่านั้นเมื่อแรกเจอมีสภาพชำรุดยอดหักเหลือเพียงชั้นบัลลังก์ องค์เจดีย์แตกร้าวมีรอยขุดเจาะหลายแห่ง มีการขุดค้นพบพระบรมสารีริกธาตุ ท่านอาจารย์มานิต วัลลิโภดม ได้นำมาที่วัดมหาธาตุ และได้ทำการเปิดผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และได้ประดิษฐานไว้ที่วัดมหาธาตุ
เจดีย์วัดเพรงร้างหรือวัดโพธิ์เขียวผมก็สงสัยอยู่เหมือนกันว่าอยู่ตรงไหน จนได้ดูในแผนที่ในราชกิจจานุเบกษา และไปเดินดูด้วยตัวเอง จึงพบว่าอยู่บริเวณหลังปั๊มน้ำมัน ปตท.เมืองราชครับ ซึ่งตามแผนที่ก็บอกไว้ชัดเจนครับว่าด้านหน้าติดกับที่ดินกรมศาสนาให้เช่าทำปั๊มน้ำมัน ด้านหน้าปั๊มติดถนนเพชรเกษม ด้านข้างตะวันออกติดกับลำรางสาธารณะ ปัจจุบันไม่เห็นแล้ว หากเราเดินไปด้านหลังของปั๊มที่มีศาลาพักร้อน หรือที่เติมลมแล้วมองตรงไปจะเห็นเนินดินที่มีต้นไม้ปกคลุมอยู่ โดยเฉพาะต้นมะขามจะเห็นชัด และถ้าสังเกตดูให้ดีจะเห็นซากเศษของอิฐโบราณ กระจายอยู่ทั่วไป ซึ่งกรมศิลปากรก็ไม่ได้บูรณะอะไร เพราะปัจจุบันก็เหลือแต่เศษซากกองอิฐ ไม่เห็นรูปทรงเดิมเลย เคยเห็นแต่ภาพถ่ายเก่า ซึ่งไม่มีส่วนปลียอด พิจารณาดูก็ไม่เหมือนภาพเจดีย์ท่าน้ำนี้เท่าไหร่
ฉะนั้นด้วยความเคารพครับ ผมว่าเจดีย์ท่าน้ำนี้ไม่ใช่เจดีย์วัดเพรงร้าง หรือวัดโพธิ์เขียวแน่นอนครับ