คาดว่าโครงกระดูกเหล่านี้ น่าจะมีอายุไม่ต่ำกว่า 2,000ปี เป็นยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่อยู่ในช่วงยุคสำริด |
โครงกระดูกที่พบบริเวณเนินดินของโคกพลับในครั้งนี้น่าจะมีอายุนับพันปี ซึ่งคงต้องรอการตรวจสอบตามขั้นตอนต่อไปว่าจะกี่พันปีกันแน่ แต่จากการสอบถามคุณปรียานุช จุมพรม นักโบราณคดีชํานาญการ กรมศิลปากรผู้ที่ทำการขุดสำรวจก็คาดว่าโครงกระดูกที่ขุดพบในครั้งนี้น่าจะมีอายุใกล้เคียงกับโครงกระดูกที่ได้เคยขุดพบเจอเมื่อ 30 ปีที่แล้วจากบริเวณเดียวกันนี้
การขุดสำรวจในครั้งนี้นับเป็นการขุดสำรวจครั้งแรกในรอบ 30 ปี หลังจากการขุดสำรวจครั้งล่าสุดก็คือช่วงปี 2520-2522 ซึ่งการขุดในครั้งนั้นทำให้ได้พบหลักฐานที่เป็นโบราณสถานและโบราณวัตถุที่มีคุณค่าอย่างสูงต่อการศึกษาเกี่ยวกับความเป็นมาของเผ่าพันธุ์มนุษย์แห่งลุ่มน้ำแม่กลองในยุคก่อนประวัติศาสตร์ หลังจากขุดสำรวจขนาด 4X4 เมตร จำนวน 2 หลุม ปรากฏว่าได้มีการค้นพบโครงกระดูกมนุษย์จำนวน 48 โครงฝังรวมกับสิ่งของเครื่องใช้เครื่องประดับจำนวนมาก แล้วก็ได้หยุดการสำรวจไป
จากบันทึกของอาจารย์ทองเพี้ยน คงแป้น ผู้อยู่ในเหตุการณ์การขุดค้นทางโบราณคดีเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เขียนเล่าในบางตอนว่า “สิ่งที่น่าเสียดายที่สุดก็คือ การที่นักโบราณคดีที่มาทำการขุดในครั้งนั้นได้เคยเสนอความคิดให้ชาวโพหักจัดให้โคกพลับเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง แสดงถึงเรื่องราวความเป็นอยู่ของมนุษย์ที่โคกพลับ แต่ความคิดนี้กลับไม่ได้รับการตอบรับจากชาวบ้าน ซ้ำร้ายไปกว่านั้นกลับมีการทำลายโคกพลับให้หมดไปด้วยการขุดดินโคกพลับขายให้แก่บริษัทรับถมดิน เพื่อทำโคกพลับให้เป็นที่ราบลุ่มใช้สำหรับทำนาอีกด้วย ความคิดแคบๆเช่นนี้ใครเล่าจะแก้ได้ ” สุดท้ายโคกพลับเลยมาไม่ถึงยุครุ่นลูกรุ่นหลานอย่างเรา สิ่งที่เหลืออยู่ก็เห็นจะเหลือเพียงตำนานการเล่าขานเท่านั้น
การศึกษาเรื่องราวความเป็นมาของมนุษย์โบราณที่โคกพลับเป็นการศึกษาเรื่องราวความเป็นมาของเผ่าพันธุ์มนุษย์เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ที่จะได้รู้เรื่องราวความเป็นมาของปู่ ย่า ตา ยาย บรรพบุรุษว่าสืบทอดต่อกันมาอย่างไร มิได้ศึกษาเพื่อค้นหาของมีค่าไปขายเป็นประโยชน์เฉพาะตนแต่อย่างใด หลายคนอาจมองว่าวัตถุโบราณที่โคกพลับเป็นของไม่มีค่า ขายไม่ได้ แต่ในทางการศึกษาถือว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามหาศาล
หลังจากการขุดสำรวจเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เนื่องจากชาวบ้านในขณะนั้นไม่ได้ให้ความสำคัญกับแหล่งโบราณคดีนี้ จึงส่งผลให้พื้นที่ส่วนหนึ่งกลายเป็นที่ทิ้งขยะ และพื้นที่บางส่วนก็ถูกขุดทำเป็นบ่อเลี้ยงกุ้งหรือบ่อเลี้ยงปลาไป
ปัจจุบัน พื้นที่บริเวณโคกพลับนี้เหลือน้อยมาก
จึงนับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างมากที่วันนี้โคกพลับจะได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งเพื่อใช้เป็นแหล่งการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์สำหรับลูกหลานในรุ่นต่อไป
ขอขอบพระคุณ คุณปรียานุช จุมพรม นักโบราณคดีชํานาญการ กรมศิลปากรและเจ้าหน้าที่ทุกท่าน ที่ให้ข้อมูลและความรู้เพิ่มเติม
หลุมที่ขุดลึกและกว้างประมาณ1.50เมตร |
ดูคลิบวีดีโอ : ชาวบ้าน ต โพหัก ทำบุญโครงกระดูก อายุ 2,000 ปี
ที่มาข้อมูลและภาพ
นกน้อยแห่งโพหัก.(2553). ขุดพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณอายุร่วม 2,000 ปีที่โคกพลับ. [Online]. Available :http://www.oknation.net/blog/nonglek/2010/09/16/entry-3. [2553 ตุลาคม 8 ].
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น