วันอังคารที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2554

โบราณสถานของจังหวัดราชบุรี

โบราณสถานภายในจังหวัดราชบุรีมีจำนวนมาก หลายยุคหลายสมัย ตั้งแต่สมัยวัฒนธรรมทวารวดีมาจนถึงปัจจุบัน ผู้จัดทำขอสรุปโบราณสถานที่สำคัญโดยย่อ เพื่อให้เห็นภาพโดยรวม ส่วนรายละเอียดของแต่ละแห่ง ผู้อ่านสามารถศึกษาเพิ่มเติมจากหนังสือต่างๆ หรือสถานที่จริงได้โดยตรง โบราณสถานของจังหวัดราชบุรี ที่สำคัญ ได้แก่
  • โบราณสถานวัดโขลงสุวรรณคิรี (โบราณสถานหมายเลข 18) ตั้งอยู่กลางเมืองโบราณคูบัว อ.เมืองราชบุรี
  • โบราณสถานจอมปราสาท ตั้งอยู่กลางเมืองโบราณโกสินารายณ์ ต.ท่าผา อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี (ดูรายละเอียด)
  • วัดมหาธาตุวรวิหาร อ.เมือง ราชบุรี โดยมีสิ่งสำคัญในวัดได้แก่ พระปรางค์ประธาน พระวิหารหลวง กำแพงแก้ว ราวบันไดรูปครุฑยุดนาค พระอุโบสถ พระมณฑป พระเจดีย์ (ดูรายละเอียด)
  • เจดีย์หัก วัดเจติยาราม ต.เจดีย์หัก อ.เมืองราชบุรี
  • เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง วัดเพลง (ร้าง) ภายในเขตพื้นที่วัดมหาธาตุวรวิหาร อ.เมืองราชบุรี (ดูรายละเอียด)
  • วิหารแกลบ วัดเขาเหลือ ต.หน้าเมือง อ.เมืองราชบุรี (ดูรายละเอียด)
  • ปรางค์ วัดอรัญญิกาวาส ต.เจดีย์หัก อ.เมืองราชบุรี (ดูรายละเอียด)
  • พระปรมาภิไธยย่อ จปร. ถ้ำระฆัง ตั้งอยู่ในพื้นที่ค่ายบุรฉัตร ต.เกาะพลับพลา อ.เมืองราชบุรี
  • พระปรมาภิไธยย่อ จปร. เขาวังสะดึง ตั้งอยู่หลังวัดหนองหอย ต.เกาะพลับพลา อ.เมืองราชบุรี
  • พระปรมาภิไธยย่อ จปร. ถ้ำสาริกา ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 ต.ธรรมเสน อ.โพธาราม
  • พระปรมาภิไธยย่อ จปร. ถ้ำจระเข้ ต.เกาะพลับพลา อ.เมืองราชบุรี (ปัจจุบันลบเลือนหายไปแล้ว)
  • อาคารศาลากลางจังหวัดราชบุรี (เดิม) ต.หน้าเมือง อ.เมืองราชบุรี (ปัจจุบันคือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี) (ดูภาพ ที่ตั้งและพิกัด)
  • อาคารศาลแขวงราชบุรี  ต.หน้าเมือง อ.เมืองราชบุรี
  • อาคารสโมสรเสือป่า ต.หน้าเมือง อ.เมืองราชบุรี
  • ฯ ล ฯ

*********************************************

ที่มาข้อมูล
คณะกรรมการอำนวยการโครงการจัดทำหนังสือ เรื่อง "วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญา". (2543). หนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดราชบุรี. กรมศิลปากร : องค์การค้าของคุรุสภา. (หน้า 113-121) (ดูภาพหนังสือ)
อ่านต่อ >>

โบราณวัตถุของจังหวัดราชบุรี

จังหวัดราชบุรีมีความเป็นมายาวนาน จากผลการดำเนินการทางโบราณคดีของกรมศิลปากร ในเขตพื้นที่จังหวัดราชบุรี ได้มีการพบโบราณวัตถุหลายยุคหลายสมัย และเก็บรักษาไว้ตามสถานที่ต่างๆ ในบทความนี้ ผู้จัดทำ พยายามสรุปโบราณวัตถุของจังหวัดราชบุรีที่พบโดยย่อ เพื่อให้เห็นภาพรวม ส่วนรายละเอียดของโบราณวัตถุแต่ละชิ้น ท่านผู้อ่านสามารถค้นคว้าศึกษาเพิ่มเติมได้จากหนังสือต่างๆ หรือที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี ต่อไป 

โบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ 
ที่สำคัญได้แก่
  • โครงกระดูก พบที่แหล่งโบราณคดีโคกพลับ (อ.บางแพ) ,บ้านโคกพริก (อ.เมือง) ,บ้านปากบึงและบ้านหนองบัว(อ.จอมบึง) ,ถ้ำเขาขวาก และถ้ำเขาปะฎัก (อ.โพธาราม) 
  • เครื่องมือหิน พบที่แหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์เกือบทุกแห่ง 
  • เครื่องประดับทำด้วยหิน พบในเขตเหมืองแร่ และบ้านนาขุนแสน (อ.สวนผึ้ง) ,โคกพลับ (อ.บางแพ) 
  • กลองมโหระทึก พบที่เมืองคูบัว (อ.เมืองราชบุรี)
  • โถสำริด พบในแม่น้ำแม่กลองเหนือตลาดบ้านโป่ง
  • เครื่องประดับทำจากกระดองเต่า พบที่แหล่งโบราณคดีโคกพลับ อ.บางแพ
  • อื่นๆ เช่น กำไลทำจากเปลือกหอยกาบและหอยมือเสือ เครื่องใช้ เครื่องประดับทำจากสำริด ภาชนะดินเผา เป็นต้น
โบราณวัตถุสมัยประวัติศาสตร์
ที่สำคัญได้แก่
  • เหรียญเงิน สมัยพุทธศตวรรษที่ 11-12 พบที่เมืองคูบัว อ.เมืองราชบุรี
  • ประติมากรรม เป็นศิลปะสมัยทวารวดี พบที่เมืองคูบัว อ.เมืองราชบุรี ได้แก่ เศียรพระโพธิสัตว์ดินเผา พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรดินเผา  พระโพธิสัตว์สำริด รูปคนแคระปูนปั้น พระพิมพ์ทำจากหินชนวน พระพิมพ์ดินเผา ภาพปูนปั้นนักดนตรีหญิง
  • พระพิมพ์หินชนวน พบที่เมืองคูบัว อ.เมืองราชบุรี
  • จี้หอยคอ พบที่เมืองคูบัว อ.เมืองราชบุรี
  • พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี พบที่โบราณสถานจอมปราสาท ต.ท่าผา อ.บ้านโป่ง (อ่านรายละเอียด)
  • ชิ้นส่วนลวดลายปูนปั้น ที่ประดับตกแต่งองค์ปรางค์ มีทั้งที่ทำเป็นรูปเทวดาหรือกษัตริย์ มนุษย์ อมนุษย์ และรูปสัตว์ต่างๆ เช่น นาค สิงห์ ช้าง ฯลฯ
  • พระพุทธรูปประทับยืน ขุดพบที่วัดประเสริฐรังสรรค์ อ.เมืองราชบุรี
  • พระอิศวรปางมหาฤาษี ขุดพบที่วัดสระกระเทียม อ.บ้านโป่ง
  • ชิ้นส่วนพระพุทธรูปทรงเครื่องสำริด พบที่ใต้ฐานพระปรางค์วัดมหาธาตุวรวิหาร อ.เมืองราชบุรี
  • เครื่องพุทธบูชาทองคำ พบที่กรุเจดีย์วัดเพลงหรือวัดโพธิ์เขียว  ในเขตบริเวณพื้นที่ของวัดมหาธาตุวรวิหาร อ.เมืองราชบุรี (ดูรายละเอียด)
  • เครื่องถ้วยโบราณ พบในลำนำแม่กลอง หน้าวัดเกาะนัมมทาปทวรัญชาราม โรงกลั่นเหล้า วัดตาล วัดมหาธาตุ วัดท่าโขลง วัดหลุมดิน วัดบ้านส้อง ขึ้นไปจนถึงตลาดท่าฝาง ฯลฯ

ปัจจุบันโบราณวัตถุเหล่านี้ ส่วนใหญ่เก็บรักษาและจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี


***********************************************************

ที่มาข้อมูล
คณะกรรมการอำนวยการโครงการจัดทำหนังสือ เรื่อง "วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญา". (2543). หนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดราชบุรี. กรมศิลปากร : องค์การค้าของคุรุสภา. (หน้า 107-113) (ดูภาพหนังสือ)
อ่านต่อ >>

วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2554

แหล่งโบราณคดีในจังหวัดราชบุรี

แหล่งโบราณคดีในจังหวัดราชบุรี มีจำนวนหลายแห่งและหลายยุคสมัย ตั้งแต่แหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ถึงแหล่งโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ช่วงหลัง ซึ่งมีหนังสือเกี่ยวกับราชบุรีหลายเล่มเขียนเอาไว้ สำหรับแหล่งโบราณคดีใน จ.ราชบุรี ในบทความนี้ ผู้จัดทำได้สรุปเป็นภาพรวมแบบย่อ เพื่อให้มองเห็นได้ชัดเจน เผื่อว่าท่านใดอยู่ใกล้สถานที่นั้น จะได้ไปศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง รวมทั้งช่วยดูแลรักษาแหล่งโบราณคดีนั้นๆ อีกทางหนึ่งด้วย ส่วนรายละเอียดในแต่ละแหล่งนั้น อยู่ในสมัยไหนและพบหลักฐานอะไรบ้าง จะได้นำเสนอรายละเอียดเฉพาะแต่ละแหล่งต่อไป

แหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์
กลุ่มที่ 1 แหล่งโบราณคดีในพื้นที่สูงแถบเทือกเขาตะนาวศรี
ส่วนใหญ่อยู่ในเขต อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี และพบตามเหมืองดีบุกที่อาจมีการทำเหมืองดีบุกมาแล้วตั้งแต่ก่อนสมัยประวัติศาสตร์ราวประมาณ 2,000 ปี แหล่งโบราณคดีที่สำคัญ ได้แก่
  1. เหมืองลุงสิงห์ บ้านตะโกล่าง ต.สวนผึ้ง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี
  2. เหมืองเริ่มชัย บ้านตะโกล่าง ต.สวนผึ้ง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี
  3. บ้านนาขุนแสน บ้านนาขุนแสน ต.สวนผึ้ง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี
  4. ห้วยน้ำใส บ้านห้วยน้ำใส ต.สวนผึ้ง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี
  5. เหมืองผาปกค้างคาว บ้านผาปก ต.สวนผึ้ง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี
  6. ห้วยม่วง บ้านห้วยม่วง ต.ตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี
  7. เหมืองตะโกปิดทอง ต.ตะโกปิดทอง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี
  8. ห้วยสวนพลู บ้านห้วยสวนพลู ต.บ้านบึง อ.บ้านคา จ.ราชบุรี
กลุ่มที่ 2 แหล่งโบราณคดีในเขตที่ราบสลับกับภูเขาโดด
พบในเขต อ.จอมบึง และ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ส่วนใหญ่เป็นถ้ำเนินดินใกล้แหล่งน้ำ และพื้นที่ราบที่น้ำท่วมไม่ถึง แหล่งโบราณคดีที่สำคัญมีดังนี้
  1. บ้านหนองบัว ต.จอมบึง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี
  2. บ้านปากบึง ต.จอมบึง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี
  3. ไร่ชัฎหนองคา  บ้านหนองบัว ต.จอมบึง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี
  4. ถ้ำน้ำมนต์ บ้านเขารังเสือ ต.จอมบึง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี
  5. ถ้ำหนองศาลเจ้า เขาคันหอก บ้านหนองศาลเจ้า ต.เบิกไพร อ.จอมบึง จ.ราชบุรี
  6. ถ้ำเขาทะลุ  ต.ปากช่อง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี
  7. ถ้ำเขารังเสือ ต.ปากช่อง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี
  8. เขาปะฎัก (ไร่นายกุ่ย  แซ่ย่งฮง) บ้านหนองกวาง ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชุบรี
  9. บ้านหนองกวาง (ไร่นายเชษฐ์  ทรัพย์เจริญกุล และไร่นายชมพู  บุญรักษา)  ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
  10. ถ้ำแรด บ้านหนองกวาง ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
  11. ถ้ำเขาช่องลม บ้านหนองกวาง ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
  12. ถ้ำเขาขวาก บ้านหนองกวาง ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
  13. ถ้ำเขากระโจม บ้านหนองกวาง ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
  14. ถ้ำสิงโตแก้ว บ้านหนองกวาง ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
  15. บ้านพุน้ำค้าง ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
  16. ถ้ำเขาหนองหญ้าปล้อง บ้านหนองกวาง ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
  17. เขาเขียว ต.เขาชะงุ้ม อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
กลุ่มที่ 3 แหล่งโบราณคดีในแถบที่ราบลุ่มแม่น้ำแม่กลอง
พบกระจายอยู่ในเขต อ.บ้านโป่ง อ.เมืองราชบุรี และ อ.บางแพ แหล่งโบราณคดีที่สำคัญมีดังนี้
  1. บ้านน้ำพุ ต.น้ำพุ อ.เมือง จ.ราชบุรี
  2. ถ้ำเขาซุ่มดง บ้านเขาซุ่มดง ต.น้ำพุ อ.เมือง จ.ราชบุรี
  3. บ้านโคกพริก ต.คุ้งกระถิน อ.เมือง จ.ราชบุรี
  4. คูบัว ต.คูบัว อ.เมือง จ.ราชบุรี
  5. โคกพลับ บ้านโคกพลับ ต.โพหัก อ.บางแพ จ.ราชบุรี (ดูรายละเอียด)

แหล่งโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์
  • เมืองโบราณคูบัว ต.คูบัว อ.เมือง จ.ราชบุรี
  • แหล่งโบราณคดีบนเทือกเขางู ต.เกาะพลับพลา อ.เมือง จ.ราชบุรี ได้แก่ ถ้ำฤาษี ถ้ำจีน ถ้ำจาม ถ้ำฝาโถ 
  • แหล่งโบราณคดีบ้านดอนกระเบื้อง ต.ดอนกระเบื้อง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี
  • แหล่งโบราณคดีบ้านโคกหม้อ ต.โคกหม้อ อ.เมือง จ.ราชบุรี
  • แหล่งโบราณคดีวัดเกาะ ในเขตวัดเกาะนัมมทาปทวรัญชาราม ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี
  • แหล่งโบราณดดีวัดขุนสีห์ (รับน้ำ) บ้านม่วง ต.บ้านม่วง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี

******************************************************

ที่มาข้อมูล
คณะกรรมการอำนวยการโครงการจัดทำหนังสือ เรื่อง "วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญา". (2543). หนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดราชบุรี. กรมศิลปากร : องค์การค้าของคุรุสภา. (หน้า 121-131) (ดูภาพหนังสือ)
อ่านต่อ >>

วันพุธที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2554

วิหารแกลบ วัดเขาเหลือ

วิหารแกลบ วัดเขาเหลือ
ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี
ดูที่ตั้ง ภาพอื่นๆ และพิกัด
เรื่องราวของ วิหารแกลบ วัดเขาเหลือ นี้ถูกเขียนและบันทึกไว้ในหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของจังหวัดราชบุรี จำนวนหลายเล่ม เป็นวิหารที่สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย  ตอนนี้ไม่ค่อยมีใครมาสนใจศึกษามากนัก เป็นเพียงโบราณสถานเล็กๆ ที่อยู่ด้านข้างโบสถ์ของวัดเขาหลือ  มีต้นไม้ใหญ่ปกคลุมหากไม่สังเกตก็จะมองไม่เห็น  วิหารแกลบ เป็นเพียงโบราณสถานแห่งหนึ่งที่กำลังถูกลืมเลือน ไม่มีนักท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ท่านใดมาเยี่ยมชมเป็นเวลานานแล้ว จะมีบ้างก็เป็นนักศึกษาคณะโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยศิลปากร มาเยี่ยมชมศึกษาเป็นครั้งคราว การบันทึกเรื่องราวของวิหารแกลบนี้ มีหลายส่วน หลายตอน จากหนังสือหลายเล่ม ลองอ่านดูนะครับ

จากหนังสือ ราชบุรี  (พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2543)
วิหารแกลบ สร้างในสมัยอยุธยาเมื่อประมาณ 300 ปีเศษมาแล้ว สร้างด้วยอิฐฉาบปูนทั้งหลัง เป็นวิหารแห่งเดียวในภาคกลางที่ยังเหลืออยู่ ภายในมีหลวงพ่อเหลือ หรือหลวงพ่อมงคลสรรเพชร ประดิษฐานเป็นองค์พระประธาน ด้านข้างฝาผนังเป็นซุ้มจระนำ 16 ซุ้ม มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ 14 ซุ้ม ซุ้มละ 1 องค์ และผนังส่วนที่เหลือมีภาพจิตรกรรมที่วิจิตรงดงาม ที่มาของชื่อ "วิหารแกลบ" นั้นเป็นเพราะลักษณะของวิหารเปรียบเหมือนม้าแกลบตัวเล็กๆ

วิหารแกลบ ด้านหน้า
ดูภาพอื่นๆ
จากหนังสือ วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดราชบุรี (พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2543)
เป็นอาคารเครื่องก่อขนาด 3 ห้อง โครงสร้างเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทั้งหมด ลักษณะหลังคาเป็นทรงจั่วลาดลงเล็กน้อย ด้านหน้าและด้านหลังมีมุขยื่น  ส่วนของหลังคาทั้งหมดฉาบปูนเรียบ   เครื่องลำยองเป็นปูนปั้นเรียบยอดจั่วและหางหงส์ปั้นปูนรูปดอกบัวตูม หน้าบันก่ออิฐถือปูนเรียบ ผนังด้านหน้ามีประตูตรงกลาง ด้านหลังทึบ ด้านข้างมีซุ้มหน้าต่างด้านละ 3 ซุ้ม แต่มีหน้าต่างจริงเพียงช่องเดียว  ฐานอาคารเป็นฐานบัวลูกฟักแอ่นโค้งคล้ายท้องเรือสำเภา อันเป็นลักษณะเฉพาะของสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย ฝาผนังด้านในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ค่อนข้างลบเลือนแต่ยังพอมองเห็นว่าเป็นภาพเรื่องพระพุทธประวัติ เทพชุมนุม  และภาพยักษ์

ด้านหลังวิหารมีเจดีย์ขนาดใหญ่ย่อมมุมไม้สิบสองก่ออิฐถือปูน  ฐานเจดีย์เป็นฐานบัวลูกฟักซ้อนกัน องค์ระฆังย่อมุม มีบัลลังก์รองรับปล้องไฉนและส่วนยอด

กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติและกำหนดขอบเขตโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 113 ตอนพิเศษ 50 ง วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ.2539

จาก หนังสือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี และจังหวัดราชบุรี  (พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2544) 
วิหารแกลบ ตั้งอยู่ในบริเวณวัดเขาหลือ ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี มีลักษณะเป็นวิหารอุดขนาดเล็ก ก่ออิฐถือปูน หลังคาทรงจั่วฉาบปูนเรียบ ฐานวิหารมีลักษณะอ่อนโค้งท้องสำเภาหรือหย่อนท้องช้าง ซึ่งเป็นคตินิยมของสถาปัตยกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย

ภายในมีพระพุทธรูปสลักจากหินทราย ศิลปะอยุธยา ประดิษฐานอยู่หลายองค์ สำหรับพระประธานภายในวิหารนั้น ได้รับการซ่อมแซมโดยมีการเอาปูนพอกทับของเดิมแล้วปิดทอง บนผนังวิหารมีจิตรกรรมที่ชำรุดลบเลือนมาก จากร่องรอยที่หลงเหลืออยู่สันนิษฐานว่า แต่เดิมคงเป็นเรื่องพุทธประวัติและเทพชุมนุม จากลักษณะการเขียนภาพลงบนรองพื้นสีขาวเบาบาง ใช้สีฝุ่นน้อยสี รวมทั้งการใช้เส้นโค้งและสถาปัตยกรรมเป็นตัวแบ่งเรื่องราวของภาพที่นิยมใช้กันในจิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยาตอนปลาย แสดงให้เห็นว่าน่าจะมีการเขียนขึ้นในระยะเดียวกันกับการสร้างวิหาร อีกทั้งลักษณะตัวภาพเทพชุมนุมที่รูปร่างหน้าตาและการแต่งกายคล้ายกับชาวต่างชาติที่เข้ามาในเมืองราชบุรีช่วงเวลานั้น ไม่ว่าจะเป็นชาวจีน ชาวตะวันออกกลางหรือเปอร์เซีย และชาวยุโรป จึงนับเป็นหลักฐานที่สะท้อนให้เห็นถึงสภาพผู้คนในสังคมเมืองราชบุรีสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี

เรื่องราวของวิหารแกลบ จากหนังสือทั้ง 3 เล่มนี้ ต่างมีวิธีการพรรณาที่ต่างกัน รวมทั้งการเรียกชื่อศิลปะหรือสิ่งก่อสร้างต่างๆ ก็แตกต่างกันไปด้วย ผู้อ่านต้องจินตนาการและนำมาบูรณการร่วมกันจึงจะเห็นเรื่องราวของ "วิหารแกลบ" โดยแท้  และหากท่านผู้อ่าน อยากเห็นและสัมผัสเรื่องราวจริง ก็สามารถแวะไปเยี่ยมชมด้วยตนเองสักครั้งก็จะเป็นการดี


***************************************** 
ที่มาข้อมูล
  • คณะกรรมการอำนวยการโครงการจัดทำหนังสือ เรื่อง "วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญา". (2543). วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดราชบุรี. กรมศิลปากร : องค์การค้าของคุรุสภา. (หน้า 118) (ดูภาพหนังสือ)
  • มรกต งามภักดี.(2543).ราชบุรี.กรุงเทพฯ: องค์การการค้าของคุรุสภา. (หน้า 180) (ดูภาพหนังสือ)
  • มโน กลีบทอง.(2544). พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี และจังหวัดราชบุรี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมาพันธ์.(หน้า 70)  (ดูภาพหนังสือ)
อ่านต่อ >>