วันพุธที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2554

วิหารแกลบ วัดเขาเหลือ

วิหารแกลบ วัดเขาเหลือ
ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี
ดูที่ตั้ง ภาพอื่นๆ และพิกัด
เรื่องราวของ วิหารแกลบ วัดเขาเหลือ นี้ถูกเขียนและบันทึกไว้ในหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของจังหวัดราชบุรี จำนวนหลายเล่ม เป็นวิหารที่สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย  ตอนนี้ไม่ค่อยมีใครมาสนใจศึกษามากนัก เป็นเพียงโบราณสถานเล็กๆ ที่อยู่ด้านข้างโบสถ์ของวัดเขาหลือ  มีต้นไม้ใหญ่ปกคลุมหากไม่สังเกตก็จะมองไม่เห็น  วิหารแกลบ เป็นเพียงโบราณสถานแห่งหนึ่งที่กำลังถูกลืมเลือน ไม่มีนักท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ท่านใดมาเยี่ยมชมเป็นเวลานานแล้ว จะมีบ้างก็เป็นนักศึกษาคณะโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยศิลปากร มาเยี่ยมชมศึกษาเป็นครั้งคราว การบันทึกเรื่องราวของวิหารแกลบนี้ มีหลายส่วน หลายตอน จากหนังสือหลายเล่ม ลองอ่านดูนะครับ

จากหนังสือ ราชบุรี  (พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2543)
วิหารแกลบ สร้างในสมัยอยุธยาเมื่อประมาณ 300 ปีเศษมาแล้ว สร้างด้วยอิฐฉาบปูนทั้งหลัง เป็นวิหารแห่งเดียวในภาคกลางที่ยังเหลืออยู่ ภายในมีหลวงพ่อเหลือ หรือหลวงพ่อมงคลสรรเพชร ประดิษฐานเป็นองค์พระประธาน ด้านข้างฝาผนังเป็นซุ้มจระนำ 16 ซุ้ม มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ 14 ซุ้ม ซุ้มละ 1 องค์ และผนังส่วนที่เหลือมีภาพจิตรกรรมที่วิจิตรงดงาม ที่มาของชื่อ "วิหารแกลบ" นั้นเป็นเพราะลักษณะของวิหารเปรียบเหมือนม้าแกลบตัวเล็กๆ

วิหารแกลบ ด้านหน้า
ดูภาพอื่นๆ
จากหนังสือ วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดราชบุรี (พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2543)
เป็นอาคารเครื่องก่อขนาด 3 ห้อง โครงสร้างเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทั้งหมด ลักษณะหลังคาเป็นทรงจั่วลาดลงเล็กน้อย ด้านหน้าและด้านหลังมีมุขยื่น  ส่วนของหลังคาทั้งหมดฉาบปูนเรียบ   เครื่องลำยองเป็นปูนปั้นเรียบยอดจั่วและหางหงส์ปั้นปูนรูปดอกบัวตูม หน้าบันก่ออิฐถือปูนเรียบ ผนังด้านหน้ามีประตูตรงกลาง ด้านหลังทึบ ด้านข้างมีซุ้มหน้าต่างด้านละ 3 ซุ้ม แต่มีหน้าต่างจริงเพียงช่องเดียว  ฐานอาคารเป็นฐานบัวลูกฟักแอ่นโค้งคล้ายท้องเรือสำเภา อันเป็นลักษณะเฉพาะของสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย ฝาผนังด้านในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ค่อนข้างลบเลือนแต่ยังพอมองเห็นว่าเป็นภาพเรื่องพระพุทธประวัติ เทพชุมนุม  และภาพยักษ์

ด้านหลังวิหารมีเจดีย์ขนาดใหญ่ย่อมมุมไม้สิบสองก่ออิฐถือปูน  ฐานเจดีย์เป็นฐานบัวลูกฟักซ้อนกัน องค์ระฆังย่อมุม มีบัลลังก์รองรับปล้องไฉนและส่วนยอด

กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติและกำหนดขอบเขตโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 113 ตอนพิเศษ 50 ง วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ.2539

จาก หนังสือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี และจังหวัดราชบุรี  (พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2544) 
วิหารแกลบ ตั้งอยู่ในบริเวณวัดเขาหลือ ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี มีลักษณะเป็นวิหารอุดขนาดเล็ก ก่ออิฐถือปูน หลังคาทรงจั่วฉาบปูนเรียบ ฐานวิหารมีลักษณะอ่อนโค้งท้องสำเภาหรือหย่อนท้องช้าง ซึ่งเป็นคตินิยมของสถาปัตยกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย

ภายในมีพระพุทธรูปสลักจากหินทราย ศิลปะอยุธยา ประดิษฐานอยู่หลายองค์ สำหรับพระประธานภายในวิหารนั้น ได้รับการซ่อมแซมโดยมีการเอาปูนพอกทับของเดิมแล้วปิดทอง บนผนังวิหารมีจิตรกรรมที่ชำรุดลบเลือนมาก จากร่องรอยที่หลงเหลืออยู่สันนิษฐานว่า แต่เดิมคงเป็นเรื่องพุทธประวัติและเทพชุมนุม จากลักษณะการเขียนภาพลงบนรองพื้นสีขาวเบาบาง ใช้สีฝุ่นน้อยสี รวมทั้งการใช้เส้นโค้งและสถาปัตยกรรมเป็นตัวแบ่งเรื่องราวของภาพที่นิยมใช้กันในจิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยาตอนปลาย แสดงให้เห็นว่าน่าจะมีการเขียนขึ้นในระยะเดียวกันกับการสร้างวิหาร อีกทั้งลักษณะตัวภาพเทพชุมนุมที่รูปร่างหน้าตาและการแต่งกายคล้ายกับชาวต่างชาติที่เข้ามาในเมืองราชบุรีช่วงเวลานั้น ไม่ว่าจะเป็นชาวจีน ชาวตะวันออกกลางหรือเปอร์เซีย และชาวยุโรป จึงนับเป็นหลักฐานที่สะท้อนให้เห็นถึงสภาพผู้คนในสังคมเมืองราชบุรีสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี

เรื่องราวของวิหารแกลบ จากหนังสือทั้ง 3 เล่มนี้ ต่างมีวิธีการพรรณาที่ต่างกัน รวมทั้งการเรียกชื่อศิลปะหรือสิ่งก่อสร้างต่างๆ ก็แตกต่างกันไปด้วย ผู้อ่านต้องจินตนาการและนำมาบูรณการร่วมกันจึงจะเห็นเรื่องราวของ "วิหารแกลบ" โดยแท้  และหากท่านผู้อ่าน อยากเห็นและสัมผัสเรื่องราวจริง ก็สามารถแวะไปเยี่ยมชมด้วยตนเองสักครั้งก็จะเป็นการดี


***************************************** 
ที่มาข้อมูล
  • คณะกรรมการอำนวยการโครงการจัดทำหนังสือ เรื่อง "วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญา". (2543). วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดราชบุรี. กรมศิลปากร : องค์การค้าของคุรุสภา. (หน้า 118) (ดูภาพหนังสือ)
  • มรกต งามภักดี.(2543).ราชบุรี.กรุงเทพฯ: องค์การการค้าของคุรุสภา. (หน้า 180) (ดูภาพหนังสือ)
  • มโน กลีบทอง.(2544). พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี และจังหวัดราชบุรี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมาพันธ์.(หน้า 70)  (ดูภาพหนังสือ)

ไม่มีความคิดเห็น: